ยุคบูม-ปีทอง ราชาผลไม้ž ทุเรียนžเลิศรส

ฤดูกาลผลไม้เมืองไทยสำหรับปี 2560 แล้ว ถือเป็นยุคทองของ “ทุเรียน” ราชาผลไม้ ผลผลิตที่ถูกตัดออกมาแต่ละลูก ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหนแทบจะขายได้ราคากันพอสมควร มีการแซวกันว่าบางจังหวัดยังไม่มีผลทุเรียนให้คนในจังหวัดได้ซื้อหากินรับประทานด้วยซ้ำ ต่างมีออเดอร์ส่งขายออกล่วงหน้ากันหมดแล้ว หากจะได้กินก็ยังต้องซื้อในราคาสูง

สัดส่วนของความต้องการหรือดีมานด์มีมากกว่าผลผลิตที่ออกมา ผลผลิตไม่พอเพียงต่อความต้องการ ไม่เพียงแต่นักบริโภคทุเรียนสัญชาติไทยทั้งนั้น แต่ความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในกลุ่มนักกินชาวจีน ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ไปไกลถึงยุโรปและทวีปอเมริกา

ที่สำคัญในปีนี้แต่ละจังหวัดที่นำพันธุ์ต่างๆ มาปลูก โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง เริ่มออกดอกออกผลกันแทบทั้งสิ้น ด้วยสภาพของดินที่ปลูก ดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกันหรือคล้ายคลึงกัน ผลผลิตที่ประดังออกมาต่างมีคุณสมบัติถึงรสชาติที่แสนอร่อย ถูกปากถูกใจกันไปทั่ว

ลองมาทำความรู้จักทุเรียนของหลายๆ จังหวัด ที่ปัจจุบันมีการสร้างเนื้อหาให้เป็นเรื่องราวอันน่าทึ่ง พบว่าในปี 2560 ผลผลิตทุเรียนแต่ละจังหวัดออกจำหน่ายที่ไม่เพียงแต่การันตีความอร่อยเท่านั้น หากแต่ยังแฝงด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ

เริ่มจากในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ช่วงวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เดินทางไปยังแปลงขยายผลเกษตรธรรมชาติ บ้านโนนทอง หมู่ 7 ต.โคกตะเคียน อ.กาบเชิง ของนายสงวน และนางแสงจันทร์ ศาลางาม สองสามีภรรยา ที่นำพันธุ์หมอนทองจากศรีสะเกษมาปลูกตั้งแต่ปี 2554 ก่อนจะให้ผลผลิตได้ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่จำนวน 16 ผล แต่ละลูกมีขนาดใหญ่สมบูรณ์ สุกงอมจนได้ที่ ผู้ว่าฯสุรินทร์เป็นประธานตัดทุเรียนลูกแรกของสวนใน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พบว่ารสชาติมีความหวานมัน นุ่มปาก และหอมกรุ่น

เป็นการออกสตาร์ตอย่างดีเยี่ยม ไม่ใช่เพียงข้าวหอมมะลิของสุรินทร์จะดีเลิศแล้ว ผู้ว่าฯสุรินทร์กล้าบอกว่า ด้วยเนื้อดินในพื้นที่สุรินทร์มีศักยภาพสูงสามารถปลูกทุเรียนเติบโตได้ผลดี ในอนาคตอันใกล้สุรินทร์จะขอเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพดีรสชาติอร่อยอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน

ขณะที่ ไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ ไม่น้อยหน้าได้ให้นายชาญชัย ศรศรีวิชัย นายอำเภอเมือง หาทุเรียนสัญชาติเพชรบูรณ์ ในสวนที่ ต.นาป่า และ ต.วังชมภู นำไปเปิดตัวที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ ที่เหลือล็อตสุดท้ายเพียง 76 ลูก เป็นการยืนยันว่า นอกจากมะขามหวานเพชรบูรณ์อันลือลั่นแล้ว ยังมีทุเรียนที่ต้องถูกกล่าวถึงไม่แพ้กัน

ทุเรียนภูเขาไฟŽ ของ จ.ศรีสะเกษ ก็ถูกนำเสนอในกระแสข่าวเช่นกัน และโกอินเตอร์ไปแล้ว นางโศก สีดา ผู้ค้าส่งผลไม้รายใหญ่ที่สุดของกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สั่งซื้อทุเรียนภูเขาไฟนำเข้าไปขายที่กัมพูชา เป็นทุเรียนมีคุณภาพระดับพรีเมียม รสชาติอร่อย เนื้อกรอบ นุ่มใน กลิ่นไม่ฉุนมาก นอกจากนี้เจ้าของสวนทุเรียนยังทำออเดอร์จัดส่งขายทางไปรษณีย์ให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ

ที่สวนผลไม้ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ของ ป้าบุญลือ จอมพันธ์ อายุ 67 ปี หมู่ 8 ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกกล่าวถึงเพราะยังทำสวนแบบสมัยโบราณ ใส่ปุ๋ยคอกขี้ควาย รสชาติพันธุ์หมอนทองที่นี่จึงมีเนื้อสีเหลืองอ่อนแห้งแข็ง ค่อนข้างหนา รสหวานจัด มีกลิ่นน้อย เมล็ดลีบเล็กส่วนที่ป่าละอู หมู่ 3 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งสวนทุเรียนที่ทำให้หลายคนติดใจในรสชาติหวานมัน เนื้อแห้ง มีเอกลักษณ์เฉพาะของผลผลิตด้านการเกษตรที่มีการรวมกลุ่มผู้ปลูกเพื่อจดสิทธิบัตรเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าไอจี โดยนำทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และชะนีมาปลูก สามารถจำหน่ายราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250 บาท จัดส่งขายทางไปรษณีย์ให้ลูกค้าทั่วประเทศ ล่าสุดยังมีการเลาะหนามออกจัดจำหน่ายให้ลูกค้าด้วย

ย้อนขึ้นไปทางเหนือที่ จ.พิษณุโลก นางนงเยาว์ เกิดบึงพร้าว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านซำต้อง ต.ชมพู อ.เนินมะปราง เป็นตัวแทนเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนพันธุ์หลงรักไทยรายแรก มีผู้คนนิยมบริโภคกันไม่ขาดสาย ชื่นชอบในรสชาติที่หอมหวาน กรอบ ที่สำคัญกลิ่นไม่แรงเท่ากับทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ ทุเรียน พันธุ์หลงลับแลŽ และ พันธุ์หลินลับแลŽ ยืนยันว่าปลูกได้เพียงแห่งเดียวที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่กลายพันธุ์ ปกติการกลายพันธุ์จะเป็นพันธุ์ไม่ดี แต่สำหรับหลงลับแลและหลินลับแลกลายเป็นพันธุ์ดี ถึงกับยืนยันว่ามีชื่อเสียงด้านรสชาติดี อร่อยที่สุดในโลก หากตัดทุเรียนพันธุ์นี้ออกสู่ท้องตลาดมักจะไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยคุณภาพและชื่อเสียง เกษตรกรพยายามเน้นเรื่องการเก็บผลผลิต อย่าให้เป็นทุเรียนอ่อนที่ถูกตัดมาจำหน่ายโดยเด็ดขาด

ที่ไม่ยอมตกขบวนทุเรียนในสวนใหญ่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มี 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.สระว่านพระยา ลำเพียก และโคกกระชาย ปลูกทุเรียนรวมกว่า 200 ไร่ ที่ให้ผลผลิตบ้างแล้ว ถูกเรียกว่า ทุเรียนครบุรีŽ มีเอกลักษณ์ที่ความหอมหวาน

ศานติ พันธุ์มณี ผอ.การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดศรีสะเกษ เคยทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนมารับงานในภาคอีสาน นอกจากดูแลเรื่องยางแล้ว ยังต้องดูพืชเศรษฐกิจไม้ผลด้วย โดยเฉพาะ ทุเรียนŽ

ผอ.ศานติเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้มีหลายจังหวัดภาคอีสานหันมาปลูกทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจกันมาก อาทิ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยเฉพาะที่ศรีสะเกษมีดินภูเขาไฟ เป็นดินร่วนดี ฟอสเฟตสูง ธาตุอาหารเยอะ เหมาะแก่การปลูกทุเรียนอย่างมาก อีกทั้งดินภูเขาไฟยังลดปัญหาการเกิดเชื้อรา ดินไม่ชื้นมากนัก ปัจจุบันมีทุเรียนมากมาย โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง ศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 5.8 พันไร่ ให้ผลผลิตกันไปแล้วประมาณ 2 พันไร่ ทุกวันนี้ทุเรียนภูเขาไฟทำราคาขายตกกิโลละ 80-120 บาท

เมื่อกล่าวถึงทุเรียนระดับพรีเมียมที่ทำราคาขายได้ดีนั้นเป็นอย่างไร ศานติเล่าว่า ขอกล่าวถึงของ จ.ศรีสะเกษ หากจะทำทุเรียนเกรดพรีเมียม ต้องใช้ต้นทุเรียนที่มีอายุ 10 ปี ให้ผลผลิตออกมาเป็นทุเรียนผลกลม ไม่บิดเบี้ยว เป็นต้น ทุเรียนพรีเมียมที่คัดขึ้นมาจะมีบาร์โค้ดระบุแหล่งที่มาของทุเรียนลูกนี้มาจากต้นไหน หากส่งขายใส่กล่องพัสดุอย่างดี มีราคาอย่างน้อยลูกละ 800 บาทขึ้นไป

เมื่อถามว่าจะดูทุเรียนเบื้องต้นว่าลูกไหนอร่อยหรือไม่อร่อยมีวิธีการสังเกตอย่างไร ศานติบอกว่า อยู่ที่ชาวสวนจะเข้าตัดทุเรียนเมื่อไหร่ หากตัดตอนผลอายุได้ 60-70 วัน ลูกจะสุกอ่อน ส่วนลูกที่อร่อยถูกปากคนไทยต้องมีอายุ 80-85 วัน นับตั้งแต่ออกดอกบาน วิธีการกินทุเรียนให้อร่อย หากเป็นพันธุ์หมอนทอง หากขั้วหลุดเมื่อไหร่เอามากินจะได้รสชาติของคนส่วนใหญ่ บางคนอยากจะกินเนื้อสุกมากๆ เหมือนคนจีนก็ต้องพักทุเรียนไว้หลายวัน

ตอนนี้ทุเรียนพื้นเมืองของอุตรดิตถ์ ทั้งพันธุ์หลงและหลินลับแลเป็นที่รู้จักกันไปทั่วถึงความอร่อย เดิมเป็นพันธุ์พื้นเมืองแล้วมีการปรับปรุงสายพันธุ์ ด้วยการลงเมล็ดปลูก รสชาติเนื้อทุเรียนกินแล้วจะรู้สึกหวานมันŽ

ศานติยังกล่าวถึงการที่พ่อค้าแม่ค้าหลอกเอาทุเรียนอ่อนออกมาขายลวงผู้บริโภคถือเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ต้องแก้ไขและปรับปรุงให้ดี มีปัญหาทุกปี เจ้าของสวนควรคำนึงถึงชื่อเสียงของทุเรียนเมืองไทยด้วย มีปัญหาเยอะจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตชนิดนี้ที่กำลังไปได้สวย