ทุเรียน ๑๐๐ ปี และอุโมงค์น้ำใต้ดิน ท่าใหม่ เมืองจันท์ ของดีที่เกือบลืม

ถิ่นเดิมของทุเรียนจริงๆ แล้ว อยู่ที่ประเทศบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ภาคกลางของไทย ผ่านทางภาคใต้ คาดว่าปลูกกันมานานกว่า ๓๐๐ ปี

มงซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส อัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๒๓๐ เขาได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า “ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า …ทูลเรียน (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมากแต่เมล็ดใหญ่เท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่
ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีเมล็ดในน้อยยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตามในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย”

นับจากปีที่ มงซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๓๒๕ ปีแล้ว แสดงว่ามีการปลูกทุเรียนในแถบถิ่นนี้นานกว่า ๓๒๕ ปีแน่นอน

พื้นที่ปลูกทุเรียนเดิมของไทยอยู่ในจังหวัดภาคกลาง อย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี จากนั้นก็กระจายไปยังต่างจังหวัด เป็นต้นว่า ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ ชุมพร ศรีสะเกษ

นอกจากที่แนะนำไปแล้ว จังหวัดอื่นๆ ยังมีปลูกอีกไม่น้อย เป็นต้นว่านครนายก ชัยภูมิ ลพบุรี ประจวบ
คีรีขันธ์ ราชบุรี นครพนม หนองคาย นครราชสีมา กาญจนบุรี อุบลราชธานี

พื้นที่ปลูกดั้งเดิมอย่างจังหวัดนนทบุรี ประสบปัญหาน้ำท่วมหลายครั้งด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทุเรียนจังหวัดนี้หายไปกับน้ำกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ เป็นเพราะขายผลผลิตได้ราคา เกษตรกรพยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จนพื้นที่ปลูกมีทั้งหมดเกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ โดยทั่วไปเกษตรกรขายทุเรียนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท ผู้ที่ปลูกจำนวน ๕ ไร่ รับรองว่า ขายได้เงินล้านอย่างแน่นอน

แต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มหาอุทกภัยได้กวาดต้นทุเรียนหายไปกับน้ำ จากที่มีอยู่เกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ เหลือเพียง ๔๓ ไร่เท่านั้น สอบถามเกษตรกรหลายคนแล้ว ได้รับคำตอบว่า ปลูกต่ออย่างแน่นอน

พูดถึงทุเรียนในปัจจุบัน มีชื่อมากๆ คือจังหวัดจันทบุรี

ในแง่พื้นที่ปลูก จังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย

ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี มีการเก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียนเก่าแก่ไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ สายพันธุ์ ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ ให้ได้รูปทรงเหมาะสม รสชาติดี โดยเฉพาะเรื่องกลิ่น มีความพยายามให้กลิ่นอ่อนลง ปัจจุบันงานวิจัยมีความก้าวหน้ามาก

นอกจากหน่วยงานราชการที่เห็นความสำคัญของพืชพรรณโบราณแล้ว ที่อำเภอท่าใหม่ มีเกษตรกรเห็นคุณค่าทุเรียนโบราณ มังคุด จึงร่วมกันศึกษาและอนุรักษ์ไว้

คุณนงลักษณ์ และคุณบุญช่วย (สามี) มณีรัตน์

คุณนงลักษณ์ มณีรัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี อยู่เลขที่ ๑๑/๑ หมู่ ๔ ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี คือหัวเรี่ยวหัวแรงในการศึกษาและอนุรักษ์ทุเรียนและมังคุด อายุของต้นกว่า ๑๐๐ ปี

คุณนงลักษณ์ ปัจจุบันอายุ ๕๘ ปี เล่าว่า เดิมบริเวณตำบลเขาบายศรี พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนโบราณ รวมทั้งยางพารากันจำนวนมาก ต่อมามีการโค่นไม้เก่าๆ ทิ้งแล้วปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่เข้าไป เพื่อสนองความต้องการของตลาด แต่ยังโชคดีที่ทุเรียนต้นเก่าๆ ยังหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้เพราะการจะตัดโค่นทำได้ลำบาก เพราะขืนตัดลงมา ทุเรียนต้นใหญ่ๆ จะสร้างความเสียหายให้กับทุเรียนสมัยใหม่เป็นบริเวณกว้าง

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เล่าว่า แม่ของตนเอง มาซื้อที่ดินทำสวน พบว่ามีทุเรียนขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับทุเรียนที่เหลืออยู่ อายุมากๆ มีอยู่ ๒ ต้นด้วยกัน คือ ทุเรียนหัวบ่อ อายุราว ๑๕๐ ปี และทุเรียนรจนา อายุกว่า ๑๒๐ ปี

สาเหตุที่มีความมั่นใจว่าทุเรียนอายุมากถึง ๑๕๐ ปี เพราะว่าขนาดของลำต้นใหญ่มาก นอกจากนี้ยังมีพยานบุคคล คือ คุณตาบุตร ศรีสัจจะ ปัจจุบันอายุ ๑๐๐ ปีแล้ว คุณตาบุตรบอกว่า ตนเองมาจากที่อื่น มาซื้อที่ทำสวนเมื่ออายุได้ ๔๐ ปี คือเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เห็นทุเรียนต้นที่ชื่อว่าหัวบ่อและรจนาต้นขนาดใหญ่มากแล้ว

ต้นทุเรียนหัวบ่อ อายุราว ๑๕๐ ปี

คุณนงลักษณ์เล่าว่า บ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เมื่อก่อนค่อนข้างทุรกันดาร โดยเฉพาะถนนเข้าบ้าน เดิมเป็นทางเกวียน ต่อมาน้ำฝนที่ไหลจากสนามบินท่าใหม่ไหลมารวมเซาะถนนจนเป็นร่องลึก ความลึกขนาด ๓ คนต่อกัน ริมถนนมีต้นไม้ปกคลุม บางฤดูกาล ผู้คนที่สัญจรไปมาหวาดหวั่นมาก เนื่องจากมีงูจงอางมาวางไข่บริเวณนั้น หนุ่มๆ ที่จะเข้าไปจีบสาวหมู่ ๔ ต้องใจถึงพอสมควร ถนนที่เป็นหลุมลึก มีความยาวไม่น้อยกว่า ๑ กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “ซอยแซงลึก”ทุกวันนี้บ้านเมืองได้พัฒนาเรื่องของถนนหนทางมากขึ้น จึงมีการถมซอยแซงลึกให้เท่ากับพื้นดินทั่วไป แต่ก็พอมีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้าง

สำหรับการนำเรื่องราวของทุเรียนที่อายุกว่า ๑๐๐ ปีออกเผยแพร่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ บอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ค่อยเห็นความสำคัญของทุเรียนโบราณ สาเหตุที่ไม่โค่นทิ้ง เพราะเมื่อโค่นจะไปสร้างความเสียหายให้กับไม้ผลอื่น ต่อมาหน่วยงานราชการได้มาแนะนำว่าน่าจะอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ เพราะนับวันจะหายาก ทางกลุ่มจึงร่วมกับทางราชการ เผยแพร่เรื่องราวของทุเรียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘

หลังจากมีข่าวออกไป ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้าเที่ยวชมกันมาก นอกจากมาดูทุเรียนโบราณแล้ว ยังมาซื้อผลิตผลอื่นๆ เป็นต้นว่า เงาะ มังคุด กล้วยไข่

คุณนงลักษณ์บอกว่า ทุเรียนโบราณที่ชื่อว่า “รจนา” มีความสูงกว่า ๒๐ เมตร ที่โคนต้นมีพูพอน เป็นดังค้ำยันให้ต้นยืนหยัดอยู่ได้นานๆ ทุเรียนรจนา ยังให้ผลสม่ำเสมอ ผลมีขนาดไม่ใหญ่นัก เฉลี่ย ๑.๕ กิโลกรัม รสชาติคล้ายทุเรียนป่าทางอุตรดิตถ์ แต่ละปีติดผลราว ๑๐๐ ผล โอกาสที่จะได้ชิมทุเรียนรจนาคือเดือนพฤษภาคม แต่ต้องรอให้ผลผลิตร่วงลงมาเท่านั้น เนื่องจากต้นสูงปีนป่ายลำบาก

ทุเรียนหัวบ่อ ต้นขนาดใหญ่กว่ารจนา จุดเด่นของทุเรียนต้นนี้ ผลมีขนาดใหญ่ เคยชั่งได้หนักเต็มที่ถึง ๔ กิโลกรัม ถึงแม้อายุ ๑๕๐ ปีแล้ว แต่การติดผลยังดีอยู่ คือราว ๑๐๐ ผลต่อต้นต่อปี ทางราชการเคยนำทุเรียนหัวบ่อไปโชว์ในงานสำคัญๆ ปรากฏว่าเป็นที่ฮือฮา ได้รับความสนใจอย่างมาก

“หลังจากเผยแพร่เรื่องทุเรียนโบราณออกไป คนรู้จักตำบลเขาบายศรีมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ มีเกษตรกรคนหนึ่ง มาบอกดิฉันว่า เขาโค่นทุเรียนโบราณต้นเท่าของที่นี่ไป ๓ ไร่ เขาบอกว่า ไม่อยากโค่น แต่แฟนอยากให้ปลูกอย่างอื่น เขามาบ่นว่าเสียดายมาก หากรู้ว่ามีค่า อย่างที่เขาบายศรี ไม่โค่นแน่นอน”คุณนงลักษณ์เล่า

(ซ้าย) มังคุด ๑๐๐ ปี, (ขวา) ลางสาด ๑๐๐ ปี

สมาชิกในเครือข่ายของคุณนงลักษณ์ ต่างก็มีสวนที่อายุของต้นไม้มากๆ กันทั้งนั้น เช่น มังคุดอายุ ๑๐๐ ปีขึ้นไป บางคนก็มีทุเรียนต้นอายุ ๘๐-๙๐ ปี เป็นน้องของรจนาและหัวบ่อ

นอกจากพาชมไม้เก่าไม้แก่ที่มีคุณค่าแล้ว คุณนงลักษณ์ยังพาไปชมภูมิปัญญาท้องถิ่น นั่นก็คือ “อุโมงค์น้ำใต้ดิน”

ตำบลเขาบายศรี อยู่ไม่ไกลจากตำบลเขาพลอยแหวน ซึ่งมีการขุดพลอยกันมาก

เดิมการขุดพลอย ขุดแบบขุดบ่อน้ำทั่วๆ ไป เมื่อขุดลึกลงไป ได้พลอยแล้วก็นำขึ้นมา

แต่ต่อมา การขุดพลอยบางครั้งหากเจอสายพลอย คนขุดก็จะเจาะรูขนานไปกับพื้นดิน เป็นอุโมงค์ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

ชาวสวนตำบลเขาบายศรี เห็นคนขุดพลอยตำบลเขาพลอยแหวน จึงนำมาดัดแปลงเป็นอุโมงค์น้ำใต้ดิน โดยเริ่มจากนำกะละมังมาคว่ำไว้บริเวณสวน คว่ำไว้ตอนเย็น ตื่นเช้าหากมีหยดน้ำเกาะกะละมังมากแสดงว่าบริเวณนั้นมีตาน้ำ จากนั้นขุดลงไปเหมือนขุดบ่อน้ำ ความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐ เมตร ก็จะพบตาน้ำ

ผังอุโมงค์น้ำใต้ดิน

ขุดที่ความลึกเท่าๆ กัน เป็นแถว ระยะห่างกันราว ๑๐-๑๕ เมตร แล้วจึงทะลุข้างล่างที่ความกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร เป็นอุโมงค์กักเก็บน้ำ แต่ละสวนจะขุดบ่อราว ๕-๖ บ่อ เมื่อมีอุโมงค์ทะลุถึงกัน สามารถเก็บน้ำได้ราว ๑ แสนลิตร ยามต้องการใช้น้ำ ก็ตักหรือสูบขึ้นมาใช้ได้

ดินบริเวณตำบลเขาบายศรี เรียกตามหลักปฐพีวิทยา คือ “ดินชุดท่าใหม่” มีสีแดง ชาวบ้านบอกว่า เวลาขุดบ่อหรือทำอุโมงค์ ตั้งแต่สมัยเก่าก่อนมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วงบ่อที่ทำจากซีเมนต์ แต่บ่อน้ำและอุโมงค์ก็อยู่มาได้เป็น ๔๐-๕๐ ปี

ทุกวันนี้ มีคนเข้าไปเที่ยวที่ตำบลเขาบายศรีกันมาก คุณนงลักษณ์บอกว่า กลุ่มของตนเองมีโฮมสเตย์ รับคนได้ประมาณ ๑๐๐ คน ค่าที่พักคืนละ ๒๕๐ บาท รวมอาหารเช้า หากต้องการอาหารมื้ออื่นก็สั่งได้

ปากบ่อน้ำ (ปากอุโมงค์)

รศ. อร่าม อรรถเจดีย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เล่าว่า ที่อำเภอท่าใหม่ มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก ถือว่าคนท่าใหม่ฐานะดี จากการจำหน่ายพริกไทย แล้วก็รายได้จากพลอย เดิมทีคนจีนอาศัยอยู่ในตลาด จากนั้นจึงขยายไปทำสวนตามตำบลต่างๆ

ส่วนคำว่า “แซง” รศ. อร่ามบอกว่า หมายถึงคอกกั้น อย่างรถปิคอัพที่บรรทุกมากๆ ตรงกระบะจะทำแซงขึ้นสูงๆ ป้องกันของหล่นลงมา

เวลาใช้เฝือกไม้ไผ่กั้นปลาในหนองน้ำ เรียกว่าแซงกั้นปลาเช่นกัน

ตรงถนนสุขุมวิทตัดกับถนนจันทบุรี-สระแก้ว บริเวณนั้นเรียกว่า “ศาลาปากแซง”

คำว่า “แซงลึก” ซอยเข้าบ้านคุณนงลักษณ์ ตำบลเขาบายศรี ในสมัยก่อน น่าจะมาจากซอยถูกน้ำเซาะลึกมาก จนเป็นหน้าผากั้นหรือเป็นแซงกั้น จะออกซ้ายออกขวาก็ลำบาก

ถือว่าเป็นชุมชนที่เห็นคุณค่าพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในท้องถิ่น ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้น แวะไปทักทายทุเรียนรจนาและหัวบ่อได้ เพียงแต่เข้าพื้นที่อำเภอท่าใหม่ เขามีป้ายบอก
ไปไม่ยาก

ที่มา ศิลปวัฒนธรรม