ภัตตาคารญี่ปุ่นเล็งใช้ปลาไทยทำเมนูปลาดิบ อสป.สบช่องดึงไจก้าศึกษาโภชนาการ

นายมานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นในไทยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ แสดงความสนใจให้อสป.ใช้ท่าขึ้นปลา 12 แห่งทั่วประเทศ อาทิ ท่าหลังสวน จ.ชุมพร ท่าหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่าสมุทรสาคร ท่าสมุทรปราการ ท่าปัตตานี และท่าสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) เป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายปลาให้กับภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากมีความต้องการที่จะใช้ปลาในทะเลไทยปรุงอาหารประเภทปลาดิบ หรือซาซิมิ แบบอาหารญี่ปุ่น เพื่อทดแทนนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มการบริโภคและใช้ปลาภายในประเทศ รวมถึงส่งเสริมรายได้ให้กับชาวประมงรายย่อย และทำให้ราคาสูงกว่าตลาดมากถึง 2-3 เท่า ซึ่ง อสป.จับมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในการศึกษาตามหลักวิชาการและโภชนาการว่า ปลาทะเลของไทย อาทิ ปลากระพงขาว ปลากระพงแดง และปลาเก๋า สามารถนำมาใช้บริโภคเป็นซาซิมิแบบญี่ปุ่นได้หรือไม่

“ผลการศึกษาของห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่นเบื้องต้นพบว่าเนื้อปลากระพงขาวจากแหล่งธรรมชาติ มีลักษณะเนื้อนุ่ม รสชาติดี เหมาะสำหรับการบริโภคดิบ แต่เนื้อปลากระพงเลี้ยง พบว่ายังไม่ค่อยเหมาะสมกับการบริโภคดิบ เนื่องจากมีกลิ่นโคลนจากแหล่งที่เลี้ยง ยังต้องมีการปรับปรุงอีกสักระยะ เพื่อให้สามารถนำมาบริโภคดิบได้ ส่วนเนื้อปลาเก๋าและปลากระพงแดงอยู่ในระหว่างการศึกษา “นายมานพกล่าว

นายมานพกล่าวว่า ในการจะนำเนื้อปลามาบริโภคดิบนั้น จะมีวิธีการจับและรักษาปลาแตกต่างจากปลาประเภทอื่น คือ จะจับด้วยเรือประมงพื้นบ้านและใช้อวนล้อมเท่านั้น ไม่ใช้อวนลาก เพื่อให้ปลาที่จับได้ยังมีชีวิตอยู่ จากนั้นจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นในการรักษาความสดของปลาด้วยอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และจากนั้นจะต้องนำปลาขึ้นฝั่งส่งให้แก่ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อคงความสดของสภาพปลาให้ได้มากที่สุด