กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือสถาบันอาหาร ยกระดับคลัสเตอร์ผลไม้แปรรูป

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณและเครื่องหมาย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม”  หรือ ECF  เพื่อการันตีคุณภาพมาตรฐานส่งออก มีผู้ประกอบการผ่านการคัดสรร 11 ราย รวม 16 ผลิตภัณฑ์     ทุเรียนแปรรูปมาแรงคว้าไป 8 ผลิตภัณฑ์ ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์จาก กล้วยหอม ขนุน  มังคุด และลูกสำรอง หนุนสมาชิกคลัสเตอร์ผลไม้แปรรูปพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก(ระยอง จันทบุรี และตราด) ให้พัฒนาตนเองทั้งด้านการผลิตและการตลาด มุ่งสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผลไม้คุณภาพและขยายช่องทางการจำหน่าย     เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของสมาชิกให้แข่งขันกันพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่สมาชิกคลัสเตอร์และเครือข่ายอย่างยั่งยืน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 9

นางกานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติคุณและเครื่องหมาย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม” (East coast quality fruit products : ECF) ให้แก่ผู้ประกอบการ 11 ราย รวม 16 ผลิตภัณฑ์ ว่าการริเริ่มกิจกรรมคัดสรรผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม  นับเป็นก้าวเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ท้องถิ่นผลักดันสู่การเป็นพรีเมียมแบรนด์ สร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคว่าผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมทั้งเพื่อการบริโภคสดและแปรรูป ทั้งยังสามารถคงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไว้ได้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และสละ จากจันทบุรี ระยอง และตราด

จากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในการขยายตลาดเบื้องต้น พบว่าจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่าการขายส่งผลไม้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรวมมูลค่าเพิ่มจากการทำตลาดแล้วจะสูงถึง 2 แสนล้านบาท เนื่องจากจันทบุรีมีผลไม้เมืองร้อนเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงมีพรมแดนติดกับกัมพูชา และมีปริมาณการค้าชายแดนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาผลผลิตด้านผลไม้ที่มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

“กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเข้าสู่ซูเปอร์คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์เป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล   กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พื้นที่จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการทำงานแนวบูรณาการที่ชัดเจน และน่าจะเกิดผลเชิงรูปธรรมแก่ภูมิภาคนี้ในโอกาสอันใกล้ เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปคุณภาพสูงของภาคตะวันออกสามารถส่งออกไปทั่วโลก”

นางยุพรัตน์ ศตวิริยะ  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าพิธีมอบโล่เกียรติคุณและเครื่องหมาย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม” แก่ผู้ผ่านการคัดสรรในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเข้าสู่ซูเปอร์คลัสเตอร์และคลัสเตอร์เป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล กลุ่มอุตสาหกรรม

เกษตรแปรรูป พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เนื่องจากจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด อยู่ในพื้นที่อ้างอิงตามประกาศของ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ของไทย  เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (Connectivity) ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ อาจนำไปสู่ความคิดใหม่ เกิดความร่วมมือ (Collaboration) และพึ่งพากันและกันอันจะนำไปสู่ความเชื่อถือไว้วางใจ เกิดการแข่งขัน (Competition) ที่อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกัน เช่น ร่วมมือกันทำตลาด หรือซื้อวัตถุดิบ การพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ เป็นต้น เกิดประสิทธิภาพโดยรวม (Collective Efficiency) พร้อมกับการเชื่อมโยงที่เป็นระบบในการถ่ายทอดความรู้ จะทำให้คลัสเตอร์มีประสิทธิภาพโดยรวมเหนือกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีการรวมตัวหรือรวมตัวกันเฉพาะในด้านธุรกิจการค้าเพียงอย่างเดียว

“คลัสเตอร์แปรรูปผลไม้คุณภาพชายฝั่งตะวันออก  จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมาตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา  มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนากลุ่ม   ในปัจจุบันมีสมาชิก 24 กิจการ มีทั้งวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่  มีการระดมความคิดเห็น จนเกิดเป็นกิจกรรมในวันนี้  เป้าหมายโดยรวมของโครงการก็เพื่อเพิ่มผลิตภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายในภาพรวมให้สมาชิกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 9 จากปีที่ผ่านมา  กิจกรรมในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้รู้จักสินค้าคุณภาพ และกระตุ้นให้สมาชิกทุกรายมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  โดยในการคัดสรรปี 2560 นี้ มีสมาชิกสนใจส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วม 53 ผลิตภัณฑ์ทั้งจากจันทบุรีและตราด โดยมีคุณภาพผ่านระดับดีเยี่ยม 16 ผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดระดับประเทศและส่งออก และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในจันทบุรี” 

นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสถาบันอาหาร ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้ร่วมกับสมาชิกคลัสเตอร์ระดมความคิด กับผู้เชี่ยวชาญจากภาคมหาวิทยาลัย และวงการอาหาร  จัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์การคัดสรรผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยมขึ้น  มีการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติการรับสมัครผู้ส่งสินค้าเข้าคัดสรรต้องเป็นผู้ผลิต/ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นสมาชิกคลัสเตอร์กลุ่มแปรรูปผลไม้คุณภาพชายฝั่งตะวันออกที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด  โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าคัดสรร ต้องใช้วัตถุดิบหลักเป็นผลไม้หรือพืชท้องถิ่นคุณภาพดีที่มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ กระบวนการผลิตสินค้าต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน หรือได้รับอนุญาตผลิตอาหารตามที่กฎหมายกำหนด  จำแนกผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งเข้ารับการพิจารณาคัดสรร เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป  และเครื่องดื่มโดยใช้เกณฑ์การพิจารณาด้านการผลิต ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาดและเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์

การพิจารณาคัดสรรผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม ในปี 2560 นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  จากหน่วยงานต่างๆ  อาทิ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี สมาคมเชฟประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาหาร และผู้แทนจากสื่อสังคมออนไลน์ด้านอาหาร เป็นต้น

“กิจกรรมคัดสรรผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพดีเยี่ยมเป็นการพยายามสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จัก และพยายามยกระดับผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการรับสมัครในปี 2560 นี้ มีผู้ประกอบการ 16 ราย ส่งสินค้าเข้าคัดสรรทั้งสิ้นจำนวน  53 ผลิตภัณฑ์  มีสินค้าที่ผ่านการคัดสรรว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

มาตรฐานระดับดีเยี่ยมจำนวน  16  ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการรวม  11 ราย  ได้แก่  ทุเรียนหมอนทองอบกรอบตราแม่ลี้, ทุเรียนทอดตราป้าแกลบ, ทุเรียนกวน ทุเรียนสุกกรอบตราจ๊าบ, ทุเรียนฟรีซดรายตรา Fruitural, กล้วยหอมทองอบกรอบ ทุเรียนอบกรอบ ขนุนทองประเสริฐอบกรอบตราฟรุ๊ตคิง, ทุเรียนอบกรอบ ขนุนอบกรอบตรา KTV,  ทุเรียนอบกรอบ ฟรีซดราย ตราบีฟรุ๊ต, น้ำสำรองผสมดอกคำฝอย ตราต้นตำรับ, น้ำมังคุดสูตร Extra สูตร Balance ตรา Xanberry, น้ำมังคุดสูตร 33% ตราไทยสโนว์ และเนื้อลูกสำรองชนิดแห้งพร้อมชงดื่ม ตรา J House

โดยผู้ที่ได้รับการคัดสรร สามารถนำเครื่องหมาย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปคุณภาพระดับเยี่ยม” ไปติดที่ฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรเท่านั้น มีอายุการนำไปใช้ในระยะเวลา 1 ปี  โดยทางสถาบันอาหารจะนำเครื่องหมายดังกล่าวประชาสัมพันธ์สู่สื่อออนไลน์ในช่องทางต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ และที่ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยด้วย”