วิไล ประกอบบุญกุล เกษตรกรมืออาชีพ ทำกล้วยครบวงจร ทั้งปลูก ขาย และส่ง นานกว่า 30 ปี

การสัมมนา “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน ในหลายตอนที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านที่ติดตามมาตลอดจะได้รับสาระความรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์ทั้งเรื่องการปลูก การดูแล การผลิตกล้วยเพื่อส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งแต่ละท่านต่างมีมุมมองกันคนละแบบ แล้วในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายทุกท่าน

การนำเสนอเนื้อหาการสัมมนากล้วยในตอนนี้ เป็นตอนที่ 5 และเป็นตอนสุดท้ายของท่านวิทยากรในภาคเช้า โดยวิทยากรท่านนี้นับว่ามีความสามารถแล้วประสบความสำเร็จจากการปลูกกล้วยหอมแบบครบวงจร เพราะท่านได้เริ่มต้นบนเส้นทางกล้วยหอมด้วยการปลูกอย่างเดียว

จากนั้นต่อยอดด้วยการตัดขาย แล้วพัฒนามาถึงการเป็นผู้จัดส่งเอง แถมท้ายด้วยการมีแผงขายกล้วยอยู่ที่ตลาดไทอีก ดังนั้น บทบาทของท่านบนเส้นทางกล้วยที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี น่าจะมีหลักคิดที่เกิดประโยชน์กับท่านผู้อ่านอย่างมาก

คุณวิไล ประกอบบุญกุล

สำหรับวิทยากรท่านนี้คือ คุณวิไล ประกอบบุญกุล เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมานานกว่า 30 ปี อีกทั้งในปัจจุบันยังยึดอาชีพแบบครบวงจร ทั้งปลูกเอง ติดต่อขายเองแล้วจัดส่งลูกค้า นอกจากนั้น ยังมีแผงขายกล้วยหอมอยู่ที่ตลาดไท

คุณวิไล กล่าวว่า ก่อนอื่นมาเริ่มที่การปลูกกล้วยหอมกันก่อน ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีนิยมปลูกกล้วยหอมแบบระบบร่อง เพราะสมัยก่อนเคยเป็นสวนส้มมาก่อน แต่พอเลิกทำส้มจึงปรับสวนเดิมมาปลูกกล้วยหอมแทน ทั้งนี้ ได้นำเทคนิคหลายวิธีมาใช้ อย่างแรกใช้หน่อจากต้นกล้วยที่ตัดเครือไปแล้วซึ่งจะได้ผลดีและมีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้จำนวน 300 หน่อ ใช้ระยะปลูก 1.50 เมตร แต่ละร่องปลูก 3 แถว

กล้วยหอมสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ควรเลือกพื้นที่ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะต้องใช้น้ำรดตลอด ขณะเดียวกัน ควรวางแผนปลูกให้ได้ผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีนควรเริ่มปลูกในเดือนมีนาคม-เมษายน โดยใช้เวลาประมาณ 9 เดือน สามารถเก็บผลขายได้ตรงเวลา กับอีกเทศกาลสำคัญคือสารทจีน ซึ่งควรลงมือปลูกในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

กล้วยหอมที่ตัดแล้วนำมาแช่น้ำในร่องสวน

วิธีปลูกกล้วยหอมจะต้องรองก้นหลุมด้วยมูลวัวและกระดูกป่น จากนั้น 1 เดือน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือยูเรีย ประมาณครึ่งกำมือ ใส่บริเวณรอบโคนแต่อย่าให้ชิดต้น จากนั้น 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 จำนวน 1 กำมือ รอบโคนเช่นกัน พอเข้าเดือนที่ 3 จะตักเลนจากร่องขึ้นมาใส่ที่โคนต้นเพื่อเรียกรากและป้องกันต้นโค่นล้ม

หลังจากเห็นว่าเลนที่ตักใส่เริ่มแห้งสนิท จึงกลับมาใส่ปุ๋ยเช่นเดิม แล้วให้ใส่ทุกเดือน พอเข้าเดือนที่ 5 ให้ตัดเลนในร่องใส่อีกรอบ แล้วพอเลนแห้งจึงใส่ปุ๋ยเช่นเดิมอีก ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้กล้วยจะออกใบสั้นและแทงปลี จึงต้องจัดการล้างคอกล้วยเพื่อเตรียมความพร้อมกับการสร้างคุณภาพผลผลิต อย่างไรก็ตาม วิธีการล้างคอกล้วยจะเป็นการช่วยกำจัดโรคแมลงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบคอกล้วย พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 จำนวน 2 กำมือ พร้อมกับการตัดแต่งใบ

อย่าปล่อยให้บริเวณโคนต้นรก เพราะจะส่งผลต่อการเกิดโรค/แมลง เนื่องจากแสงแดดส่องไม่ถึงผิวหน้าดิน ควรตัดใบกล้วยออกประมาณ 10-12 ใบ ต่อต้น ทั้งนี้ เพราะในช่วงที่ตกเครือจะไม่มีการแทงใบใหม่ออกมา ดังนั้น ใบที่มีความสมบูรณ์จะช่วยในเรื่องการปรุงอาหารได้อย่างดี

ในช่วงเข้าเดือนที่ 6 จะต้องเริ่มค้ำต้นกล้วย เพราะเป็นช่วงที่กล้วยออกปลีจึงต้องค้ำต้นล่วงหน้าเสียก่อนมิเช่นนั้นอาจทำให้ต้นกล้วยล้มแล้วเสียหายได้ โดยเฉพาะถ้าในช่วงนั้นมีลมพัดแรง สำหรับไม้ที่ใช้ค้ำต้นนั้นเป็นไม้รวกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 5 เมตร โดยตำแหน่งค้ำยันควรอยู่บริเวณคอกล้วยใบสุดท้าย

ส่วนอีกด้านของไม้ค้ำให้ปักลงดินลึกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกมัดบริเวณกลางกล้วย ในช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อเป็นการเร่งผลผลิตให้โต พร้อมกับการสร้างรสชาติ ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้จะต้องใช้ถุงห่อกล้วยด้วยเพื่อป้องกันแสงแดดที่จะทำให้ผิวเปลือกเสีย ทั้งนี้ ข้อดีของการห่อจะช่วยทำให้ผลกล้วยมีสีสวยเท่ากัน มีผิวสวยโดยการห่อผลจะเริ่มห่อตั้งแต่ผลกล้วยมีขนาดเท่านิ้วโป้ง และควรใช้ถุงห่อสีฟ้าเพราะทดสอบแล้วว่าดีที่สุด

พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะตัดเครือกล้วยใส่บรรทุกลงในเรือที่อยู่ตามร่อง แล้วนำไปหั่นเป็นหวีล้างทำความสะอาด ขณะเดียวกัน จะมีการคัดแบ่งเกรดเป็นไซซ์ขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก สำหรับการขายให้ลูกค้าที่สั่งไว้จะใส่กล้วยไว้ในเข่ง จำนวนเข่งละ 7 หวี สำหรับกล้วยที่คัดตกเกรดจะมีคนมารับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นขนมชนิดต่างๆ ส่วนสถานที่ขายจะมีแผงร้านขายอยู่ที่ตลาดไท ใช้ชื่อว่า “พรวิไลกล้วยหอม” จะขายทุกวัน

คุณวิไล มีสวนกล้วยหอมที่จังหวัดปทุมธานีจำนวนเนื้อที่ 100 ไร่ นอกจากผลผลิตกล้วยในสวนตัวเองแล้วยังรับซื้อกล้วยจากลูกไร่ที่ปลูกอยู่อีกหลายรายนับเป็นพันไร่ โดยจะรับซื้อ-ขายกล้วยแบบเป็นเครือโดยเป็นการซื้อแบบเหมาสวน จะตีราคาเป็นเครือตามความสมบูรณ์ ทั้งนี้ เครือที่ความสมบูรณ์มากราคาประมาณ 200 บาท ส่วนความสมบูรณ์น้อยราคาก็จะลดต่ำลงมา และการเข้าซื้อแต่ละสวนเจ้าของสวนจะขอมัดจำไว้ล่วงหน้า หรือบางรายอาจต่อรองเป็นค่าไม้ค้ำยันแทนเงินมัดจำ

อย่างไรก็ตาม ราคาไม้รวกต่อเที่ยวรถบรรทุกประมาณ 10,000-20,000 บาท และมีราคาต่อลำประมาณ 16 บาท เป็นไม้รวกทางปราจีนบุรี ซึ่งถ้าเป็นไม้เลี้ยงราคาจะแพงหน่อยแต่มีคุณภาพเนื้อไม้และอยู่ได้นาน แต่ถ้าเป็นไม้รวกธรรมดาที่ราคาไม่แพงจะอยู่ได้ราวปีเศษเท่านั้น

คุณวิไล บอกว่า อาชีพของตัวเองจะต้องมีสวนกล้วยด้วยเนื่องจากเราสามารถปลูกอย่างมีคุณภาพได้ กำหนดได้ แต่ความเป็นจริงคงไม่ทันเพราะเรามีแผงขายและมีลูกค้าจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาเครือข่ายที่ปลูกกล้วยแบบมีคุณภาพเพื่อช่วยบรรเทาความต้องการของลูกค้าในกรณีที่ไม่พอ

“ในปัจจุบันตลาดกล้วยมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาแม้จะมีพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มขึ้น แต่ในบางคราวยังมีสภาพขาดแคลนอยู่ ถ้าตลาดในประเทศยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วมีการส่งเข้าห้างใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อด้วย แต่ถ้าปลูกแบบเน้นคุณภาพเพื่อส่งออกก็ยังเป็นตลาดที่สนใจ แต่ต้องคุณภาพจริงๆ ดังนั้น ขอสรุปว่าตอนนี้ตลาดกล้วยยังไปได้ เพียงแต่ขอให้เกษตรกรรักษามาตรฐานการปลูกควบคู่ไปด้วย” คุณวิไล กล่าว

สำหรับเนื้อหาการบรรยายในช่วงแรกของการสัมมนากล้วยคงมีเท่านี้ ในครั้งต่อไปอยากเชิญชวนท่านให้ติดตามอ่านประเด็นคำถามที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาสงสัย ทั้งในเรื่องการปลูก ปัญหาจากการปลูก พื้นที่แบบใดเหมาะสม หรือกล้วยประเภทใดเหมาะปลูกในพื้นที่แบบใด ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้จะมีคำตอบจากวิทยากรในครั้งต่อไป

ผู้เข้าสัมมนาท่านนี้ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
บรรยากาศภายนอกที่จัดบู๊ทและนิทรรศการได้รับความสนใจมาก

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์