เปิดคำตัดสิน ขวดน้ำอัดลม”เอส”ระเบิดใส่น.ศ. เลนส์ตาซ้ายแตก สั่ง”เสริมสุข”ชดใช้กว่า2ล้าน

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในคดีที่นายธีรเกียรติ เจริญบัณฑิตสกุล ผู้เสียหาย เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บมจ.เสริมสุข เป็นจำเลยต่อแผนกคดีผู้บริโภคในศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำ ผบ.1500/2558 เรื่องละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทนประกอบด้วย ค่าพยาบาลรักษาตัว, ค่าขาดโอกาสทางการศึกษา,ค่าขาดรายได้จากการทำงานและค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพในอนาคต เนื่องจากสูญเสียการมองเห็นดวงตาข้างซ้ายและค่ารักษาพยาบาลในอนาคต รวมเป็นเงิน 10,897,000 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 โจทก์ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ อยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและดวงตาซ้ายเนื่องจากขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลม(เอส)ระเบิดระหว่างที่โจทก์หยิบขวดน้ำอัดลมจะไปส่งให้กับลูกค้า แต่เกิดระเบิดทำให้เศษแก้วพุ่งเข้าใส่ใบหน้าโจทก์อย่างแรง ระหว่างโจทก์เข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เลนส์ตาซ้ายแตก จึงยื่นฟ้องจำเลยในฐานะผู้ประกอบการต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยการผ่าตัดยังไม่สามารถทำให้โจทก์มองเห็นได้ตามปกติ

ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว มีตัวโจทก์ และเพื่อนพนักงานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ตามวันเวลา เกิดเหตุ โจทก์ได้นำใบสั่งเครื่องดื่มที่ลูกค้าสั่งมาแล้วเพื่อนพนักงานได้นำน้ำอัดลมขวดแก้ว 3 ขวดที่ยังไม่ได้เปิดและไม่ได้ทำขวดตกพื้นหรือกระแทก มาวางไว้ที่ชั้นวางเครื่องดื่ม ระหว่างที่โจทก์ใช้มือซ้ายหยิบน้ำอัดลมขวดแรกและใช้มือขวาหยิบน้ำอัดลมขวดที่สอง ทันใดนั้นน้ำอัดลมขวดที่สองก็ระเบิด ซึ่งเพื่อนพนักงานได้ยินเสียงขวดระเบิดและเห็นโจทก์เอามือกุมไว้ที่ใบหน้า จากนั้นจึงพาไปที่โรงพยาบาล โดยยังมีพยานโจทก์อีกปากเบิกความว่า ร้านดังกล่าวจำหน่ายน้ำอัดลมจากจำเลยเพียงยี่ห้อเดียว โดยจะสั่งซื้อกับตัวแทนของจำเลย จะมีพนักงานของจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าลงมาจากรถเพื่อนำไปเก็บในที่เก็บเครื่องดื่มของร้านที่มีหลังคาคลุมเรียบร้อย นอกจากนี้โจทก์ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือและวัสดุเบิกความสนับสนุนอีกว่า ลักษณะการหยิบขวดน้ำอัดลมของโจทก์เป็นไปในลักษณะปกติทั่วไป ขณะที่คำเบิกความของโจทก์และพนักงานในร้านสอดคล้องกับภาพเหตุการณ์ที่เป็นพยานวัตถุ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนว่าขวดน้ำอัดลมขวดที่สอง ที่โจทก์ใช้มือขวาหยิบจับตามปกติเช่นวิญญูชนทั่วไปนั้นระเบิดขึ้นมาเอง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนที่โจทก์ นำพยานผู้เชี่ยวชาญ เบิกความถึงขบวนการผลิตสินค้าน้ำอัดลมด้วยว่า น้ำอัดลมที่ผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีความดันในขวดสูง และการนำขวดแก้วมาบรรจุใหม่หลายรอบอาจชำรุดด้วยเหตุที่มีผู้ใช้รายก่อนๆ นำขวดไปแช่แข็งหรือชำรุดจากการขนส่ง หรือ ขณะล้างขวด ถ้าหากนำขวดที่ชำรุดไปบรรจุน้ำอัดลมขวดอาจจะแตกขณะบรรจุทันที หรือแตกหลังบรรจุเมื่อจุดที่ขวดไม่สามารถรับแรงดันได้ โดยฝ่ายจำเลย มีพยานเบิกความถึงกระบวนการผลิตน้ำอัดลมว่าโรงงานผลิตสินค้าของจำเลยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยราชการ สินค้าผลิตโดยได้มาตรฐานสากลมีกระบวนการและกรรมวิธีผลิตที่สะอาด ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ขณะที่ขวดแก้วเป็นการจ้างโรงงานบุคคลภายนอกเป็นผู้ผลิต มีมาตรฐานต้านทานต่อความดันและได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) นั้น ศาลเห็นว่าทางนำสืบของจำเลยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยเป็นการนำสืบให้เห็นเพียงว่าขั้นตอนการผลิตของจำเลยมีขั้นตอนอย่างไร มีการตรวจสอบก่อนที่จะจัดจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอย่างไร แม้จำเลยจะนำสืบชี้ให้เห็นว่าสินค้าน้ำอัดลมของจำเลยเป็นสินค้าที่ปลอดภัยเพราะมีการผลิตตามมาตรฐาน มอก. แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏตามภาพวัตถุพยานแสดงให้เห็นว่าสินค้าของจำเลยไม่ปลอดภัยเนื่องจากโจทก์ได้รับอันตรายจากการระเบิดของขวด ขณะที่โจทก์หยิบจัดขวดในลักษณะปกติทั่วไป

ขณะที่ศาลเห็นว่า การสุ่มตรวจเพื่อวัดแรงดันก๊าซในเวลา 30 นาที สุ่มตรวจ 2 ขวดเท่านั้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าขวดน้ำอัดลมทุกขวดจะมีความปลอดภัย จึงมีความเป็นไปได้ที่ขวดซึ่งมีความชำรุดบกพร่องโดยไม่เห็นประจักษ์ด้วยตาเปล่าจะผ่านไปถึงขั้นตอนการผลิตน้ำอัดลมของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เมื่อขวดน้ำอัดลมของจำเลยระเบิดทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ สินค้าของจำเลยจึงเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 4

ส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อศาลพิเคราะห์จากใบรับรองแพทย์และสรุปประวัติการรักษาพยาบาลที่แพทย์วินิจฉัยว่า ตาซ้ายแตก และเลนส์ตาแตก แพทย์ได้ผ่าตัดเย็บกระจกตาและลงความเห็นว่าตาซ้ายของโจทก์ยังไม่ได้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง ยังสามารถมองเห็นได้ในระดับ 6/60 ควรผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียมก่อนและประเมินการก่อเหตุอีกครั้ง หากโจทก์มองเห็นระดับที่น้อยกว่า 6/60 จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอีกครั้ง แสดงว่า ด้วยตาซ้ายของโจทก์สามารถให้อาการบรรเทาลงได้ จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนนี้ไว้จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้นแต่ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 40 พร้อมกับค่ารักษาพยาบาลการติดตามอาการ , ค่าเสียหายที่โจทก์จะรับเงินค่าตอบแทนจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟอีกเดือนละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันเกิดเหตุที่ 18 พฤษภาคม2557 จนถึงวันฟ้องรวมจำนวนเงินส่วนนี้ 120,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 1,410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเกิดเหตุ 18 พฤษภาคม2557 จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียความสามารถในการประกอบอาชีพอีก900,000บาท โดยสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนนี้ไว้จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้นแต่ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี พร้อมทั้งให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีกด้วย 50,000 บาท

ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้กำหนดเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงนั้น ศาลเห็นว่ากรณีที่ขวดน้ำอัดลมของจำเลยระเบิดจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเพียงความประมาทเลินเล่อ หรือความบกพร่องจากกระบวนการผลิตเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้ประกอบการไม่ได้กระทำโดยเจตนาหรือเกิดจากการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 42

 

ที่มา มติชนออนไลน์