น้ำมันเครื่องปลอมระบาดหนัก! เตือนประชาชนระวัง พื้นที่ชายแดน-อีสานหนักสุด

นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ สมอ. ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าพบว่า มีผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องปลอมระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดน และภาคอีสาน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมักนิยมใช้ และบางครั้งผู้ใช้ตรวจสอบได้ยาก ซึ่งจะส่งผลผลเสียต่อเครื่องยนต์ ทำให้สึกหรอเร็ว อายุการใช้งานสั้นลง ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเครื่องยนต์ และยังส่งผลให้เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สร้างปัญหาปล่อยมลพิษออกมากระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับน้ำมันเครื่องปลอม ให้ผู้บริโภคสังเกตเบื้องต้นคือลักษณะภาชนะบรรจุขวดจะเก่า มีร่องรอยการแกะฟอยล์ฝาพลาสติกออก เพื่อใส่น้ำมันเครื่องปลอมลงไป โดยส่วนใหญ่จะขายในร้านค้าขนาดเล็ก หรือตามปั๊มหลอด ส่วนน้ำมันเครื่องของจริงให้สังเกตที่ภาชนะบรรจุ ต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่บุบหรือมีรอยเปิดใช้งานแล้ว ต้องมีฉลากบอกวัน/เดือน/ปีที่ผลิต ปริมาตร รวมถึงแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน ที่สำคัญควรเลือกซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ จะต้องระบุชื่อของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย สถานที่ผลิต
อย่างไรก็ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องที่ สมอ. กำหนดจะมี 3 มาตรฐาน คือ 1. มาตรฐานทั่วไป  มอก. 356 – 2531 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่อง  มีผู้ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน จำนวน 1 ราย คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2. มอก. 356 (เล่ม 2)-2541 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่อง ที่เหมาะสำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุกงานหนัก เครื่องจักรกลหนัก เครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องมือในการก่อสร้าง
ส่วนมาตรฐานสุดท้ายมาตรฐานบังคับ มอก.1040-2541 ใช้สำหรับเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ เป็นมาตรฐานที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ และเรือยนต์บางประเภทที่ใช้เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ซึ่งในปัจจุบันมีใช้อยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้ในรถจักรยานยนต์รุ่นเก่า เนื่องจากการใช้น้ำมันเครื่องประเภทนี้การปล่อยมลพิษมากกว่าประเภทเครื่องยนต์เบนซินสี่จังหวะ  มีผู้ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน จำนวน 12 ราย เช่น บริษัท เชฟรอน (ไทย) บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด  บริษัท ไตเกียวออยล์ บริษัท ไทยลู้บเบล็นดิ้ง จำกัด บริษัท น้ำมันปิโตรเลียมไทย บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) บริษัท บีพี-คาสตรอล (ประเทศไทย) บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ บริษัท สยามฟายน์เฆมี และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
สำหรับบทลงโทษผู้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ฉบับแก้ไขจะประกาศใช้ภายในปีนี้ คือการทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต บทลงโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.ฉับใหม่แก้ไขเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เดิมจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่  1,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก้ไขเป็นจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ