ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 41,005 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น55 % ของความจุอ่างฯ มากกว่าปี 2559 คิดเป็น 8,225 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 17,186 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,940 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,856 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,244 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 34,207 ล้าน ลบ.ม. หรืออีก 45% ส่วนสภาพน้ำท่าในลำน้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อีกทั้งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด
นายสัญชัย กล่าวว่า สำหรับฝนที่ตกหนักในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนทำ ให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง ปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือในบางพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง อาทิ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งกรมชลประทานได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 5.5 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง และปิดการรับน้ำจากแม่น้ำน่านพร้อมทั้งเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในทุ่งบางเคียน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังประมาณ 1,500 ไร่ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย พื้นที่การเกษตรบริเวณทุ่งสองพี่น้อง ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ประมาณ 70,000 ไร่ กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำเคลื่อน เป็นต้น เพื่อเร่งระบายลงคลองชัยนาท-ป่าสัก
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเดือนมิถุนายน 2560 โดยจะปิดหน่วย ฝนหลวงชั่วคราว 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยพิษณุโลก ขอนแก่น และหัวหิน เนื่องจากในพื้นที่การเกษตรมีน้ำเพียงพอ และปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนค่อนข้างดี ทั้งนี้ สาเหตุในการปิดหน่วย ทั้ง 3 นั้น เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งเป็นการปิดหน่วยชั่วคราว หากมีฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ที่ปิดหน่วยไป ก็จะกลับมาปฏิบัติภารกิจเช่นเดิม