จ้างแรงงานอ่อนแรง ไตรมาสแรกติดลบ1.4%เหตุเอกชนยังไม่ลงทุน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การจ้างงานในไตรมาส1/2560 มีทั้งสิ้น 37.4 ล้านคน ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคการเกษตร ติดลบ 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกเกษตรต่อเนื่องช่วงปี 2557– 59 เพราะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากกำลังแรงงานเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่แรงงานใหม่ลดลงจากผลตอบแทนไม่แน่นอนและไม่จูงใจ

ส่วนการจ้างงานภาคนอกการเกษตร ติดลบ 0.3% โดยสาขาอุตสาหกรรม ติดลบ 1.5% และสาขาก่อสร้าง ติดลบ 8.7% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชยนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ยกเว้นการจ้างงานสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ 4.2% สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัว 2.9% และสาขาขายส่ง/ขายปลีก ขยายตัว 0.9% ตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี

“ตัวเลขผู้ว่างงานมี 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 0.97% ถือเป็นการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังคงทรงตัว สะท้อนการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็ม “

ในส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น โดยรวมติดลบเล็กน้อย 0.9% โดยค่าจ้างนอกภาคเกษตร ติดลบ 1% แต่ภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 5.2% แต่เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เท่ากับ 1.3% จะทำให้ค่าจ้างแรงงานแท้จริงของภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ติดลบ 2.1%

“แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.3% แต่ยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในปัจจุบันมากนัก เนื่องจากภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และยังสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงานของแรงงานได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการคงชะลอการจ้างงานออกไป แต่ตัวเลขการจ้างงานเดือนเมษายน มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรขยับสูงขึ้น 7% จากภัยแล้งหมดลง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่ภาคการผลิตคาดว่าจะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง “

สำหรับหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4 /2559 เท่ากับ 11,472,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 1/2560 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ชะลอ โดยชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเหลือ 6.1% จากไตรมาส 4 /2559 อยู่ที่ 7% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัว 2.8% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.3%

ในด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเป็น 2.82% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.71% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดีลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง3เดือน ลดลงเหลือ 3.11% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.19% ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 9,844 ล้านบาท ลดลง 12.8% และคิดเป็นสัดส่วน 3%ของยอดสินเชื่อคงค้าง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 9,859 ล้านบาท ลดลง 10.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

 

ที่มา มติชนออนไลน์