ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดใจสุดเสียดายภาษีประชาชน ทุ่มงบ 72 ล้าน สูญเปล่า สตง.ชี้ทำรัฐเสียหาย
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณี ปัญหาโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน กลุ่มพื้นที่ 3 ของเทศบาลตำบลนาแก งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 72 ล้าน ซึ่งมีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ ต.นาเลียง อ.นาแก จ.นครพนม บนเนื้อที่กว่า 70 ไร่ ซึ่งเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่เป็นระบบคัดแยกขยะ ครบวงจร เพื่อนำไปกำจัด และขยะรีไซเคิล รวมถึงนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีภาพ แต่หลังเดินเครื่องได้ประมาณ 2 ปี ต้องหยุดใช้งาน เนื่องจากระบบเครื่องจักรมีปัญหาไม่สามารถคัดแยกขยะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ บวกกับมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มทุนตกเดือนละเกือบ 2 แสนบาท ทำให้ปล่อยร้างไม่มีการใช้งานมานานกว่า 4 ปี จนกระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 จ.อุบลราชธานี ได้มีการเข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุ และมีคำสั่งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2560 ชี้มูลว่า ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และไม่มีการใช้ประโยชน์ทั้งระบบ รวมทั้งไม่สามารถปรับปรุง หรือซ่อมแซมให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ จนเป็นเหตุทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย พร้อมมีคำสั่งให้มีการตั้งคระกรรมการสอบสวน ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิด รวมทั้งอาญาและแพ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดได้มี นายวาหลิต เชื้อพระซอง อายุ 42 ปี ผู้ใหญ่บ้านโพนสวรรค์ หมู่ 7 ต.นาเลียง อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วย นายสมช่วน โสภาพรหม อายุ 52 ปี สมาชิก อบต.นาเลียง บ้านโพนสวรรค์ หมู่ 7 รวมถึงตัวแทนชาวบ้าน ได้ออกมาเรียกร้องให้ เทศบาลตำบลนาแก รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไปถึงรัฐบาลที่มีอำนาจ เข้ามาแก้ไขปัญหา เนื่องจากบ่อกำจัดขยะของเทศบาลตำบลนาแก ไม่เพียงมีปัญหาเรื่องจัดสรรงบประมาณ จำนวน 72 ล้านบาท มาก่อสร้างโรงกำจัดขยะ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ยังมีปัญหาเรื่องมลภาวะ สร้างความเดือดร้อน แก่ชาวบ้านในพื้นที่ รวม 6 หมู่บ้าน เคยเรียกร้องไปหลายหน่วยงานมานานกว่า5 ปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง
โดย นายวาหลิต เชื้อพระซอง อายุ 42 ปี ผู้ใหญ่บ้านโพนสวรรค์ หมู่ 7 ต.นาเลียง อ.นาแก จ.นครพนม กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องบ่อขยะเทศบาลตำบลนาแก มีปัญหายืดเยื้อไม่ได้รับการแก้ไขจริงจังมานานกว่า 10 ปี หลังจากเทศบาลนาแก เดิมตั้งแต่สภาตำบล ได้มีการเสนอก่อสร้างบ่อขยะ ในพื้นที่ บ้านโพนสวรรค์ ต.นาเลียง อ.นาแก จ.นครพนม ตั้งแต่ประมาณปี 2545 ซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลตำบลนาแก โดยทางเทศบาลตำบลนาแก ได้ร่วมกับ อบต.นาเลียง ได้มีการหารือประชาพิจารณ์ กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งหมด 12 หมู่บ้าน เพื่อดำเนินก่อสร้างบ่อกำจัดขยะในระบบฝังกลบ และมีการเสนอในเรื่องของประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ยืนยันว่า จะมีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนตามมา ทำให้ชาวบ้านยินยอมที่จะให้ดำเนินการก่อสร้าง เพราะอยากมีงานมีรายได้ ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ทั้งที่เป็นโครงการของเทศบาลตำบลนาแก ไม่ใช่ อบต.นาเลียง แต่สุดท้ายเริ่มมีปัญหาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปะ 2554 หลังมีการเสนอก่อสร้างโรงกำจัดคัดแยกขยะ เป็นงบประมาณสูงถึง 72 ล้านบาท สุดท้ายเกิดปัญหาเครื่องจักรมีปัญหา ใช้งานมี่ได้ และค่าใช้จ่ายต้นทุนสูงไม่คุ้มค่า ต้องหยุดมาแต่ปี 2556 ทำให้ไม่มีการจ้างงาน ชาวบ้านขาดรายได้ หนำซ้ำต้องเจอกับมลภาวะเต็มๆ แต่ไม่มีหน่วยงานมาดูแลแก้ไขจริงจัง ทำเพียงแก้ผ้าเอาหน้ารอด
สำหรับปัญหาใหญ่คือ ส่งกลิ่นเหม็น กระทบชาวบ้าน รวม 2 หมู่บ้าน จำนวน กว่า 200 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ทั้งชุมชน โรงเรียน มีกลิ่นเหม็นโชยไปตามลม มีแมลงวันจำนวนมาก ยิ่งฤดูฝนยิ่งกระทบหนัก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องน้ำเสียที่แก้ไขไม่จบ ฤดูฝนมาจะไหลบ่าเข้าพื้นที่เกษตร นาข้าว สวนยางพารา ได้รับผลกระทบกว่า 200 ไร่ พืชการเกษตรเสียหาย ทุกปี เพราะไม่มีการแก้ไขให้เป็นบ่อฝังกลบที่มาตรฐาน ถือเป็นปัญหาเรื้อรังของชุมชน ยิ่งมีการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ว่างบประมาณ 72 ล้านบาท นำมาสร้างไม่เกิดประโยชน์ ทำให้รัฐเสียหาย รู้สึกเสียดายเงินภาษีประชาชน หนำซ้ำยังนำมลภาวะ นำมลพิษ มาสู่ชุมชน อย่างไรก็ตามอยากวิงวอน หน่วยงานมีอำนาจ เข้ามาดูแลแก้ไขเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ไม่เข้าใจสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ร้องเรียนไปยังเทศบาลตำบลนาแก หลายครั้ง แต่มาตรวจสอบแก้ไขเฉพาะหน้า ไม่มีการวางแผนแก้ไขถาวร ฝากผู้มีอำนาจด้วย เพราะขยะนับวันยิ่งมากขึ้น หากไม่แก้ไขคนเดือดร้อนคือชาวบ้านในพื้นที่
ขณะเดียวกันทางด้าน นายวิทยา แสงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาแก ได้ออกมาระบุว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบ ตามคำสั่งของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เกี่ยวกับการชดใช้ทางแพ่ง รวมถึงการละเมิดของบุคคลเกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมวางแผนที่จะขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจหาแนวทางมาแก้ไขปัญหาในเรื่องของระบบการทำงานของเครื่องจักร ให้สามารถใช้งานได้ รวมถึงวางแผนรับมือปริมาณขยะ รวมถึงการกำจัดทำลาย ไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว ซึ่งอยู่ระหว่างการหาทางออก แก้ไขปัญหา