ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (เอ็มยูที) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายประเทศไทยไว้ว่าจะเป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นชาติการค้าและบริการ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ไปตามเป้าหมายแผนพัฒนาดังกล่าว ทำให้ทราบถึงความต้องการตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ วิศวกรรมโลจิสติกส์ วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสารเศรษฐกิจดิจิทัล วิศวกรรมเมคคราทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบวัดคุม วิศวกรรมไฟฟ้าและโยธา ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แรงงานที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก คือ วิศวกรรมไฟฟ้าระบบสมองกลฝังตัว วิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์
นายภานวีย์กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านวิชาการแล้ว หัวใจสำคัญของบุคลากรในอนาคต ภาคธุรกิจต้องการผู้ที่มีความเข้าใจ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอ็มยูทีได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning และ STEM มาประยุกต์ใช้ ทำให้นักศึกษาเกิดความสนุกที่จะเรียนรู้ กระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกคิดในเชิงนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบและครบวงจร
“ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนตั้งแต่วันนี้ เลือกพัฒนาตนเอง ศึกษา ทำความเข้าใจกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ เพราะต่อไปการแข่งขันไม่ใช่แต่เพียงแรงงานภายในประเทศเท่านั้น แต่แรงงานฝีมือจากต่างชาติจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน” นายภานวีย์กล่าว