เปิด 5 เทคนิคเจน Z สายลงทุน มีเงินแสนไม่ต้องขอพ่อแม่

เกิดมาในยุคที่ทุกสิ่งล่อตาล่อใจ เพียงแค่ใจอ่อนก็ช้อปเงินหมดกระเป๋าไม่รู้เนื้อรู้ตัว พลันเดือดร้อนพ่อแม่ต้องขอเงินเพิ่ม แต่จะดีสักเท่าไหร่หากน้องๆ หนูๆ จะหาเงินได้ด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง จะด้วยการออมเก็บเงินรอออกดอกออกผลก็ดี จะการออมด้วยการลงทุนแล้วได้กำไรมากๆ ก็ยิ่งเยี่ยม สามารถทำได้จริง

ซึ่ง นัน-นันพิชา จูงศิริวัฒน์ นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาแบบบูรณาการด้านบัญชีและการบริหารธุรกิจ (IBMP) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเริ่มมีเงินเก็บถึง 6 หลักจากการเล่นหุ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเล่นหุ้นว่า มีความสนใจเรื่องการลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย เพราะเห็นคุณพ่อลงทุนในหุ้น ซึ่งมีทั้งช่วงที่ขาดทุนและได้กำไรมาโดยตลอด จนกระทั่งหลังวิกฤต Subprime ไปไม่กี่ปี เริ่มได้ยินเสียงความเสียดายจากพ่อว่า “ถ้าซื้อหุ้นตัวนี้นะ พ่อจะสามารถทำกำไรได้ถึง 5 เท่า ในเวลาไม่กี่ปี” จึงรู้สึกแปลกใจมากว่าทรัพย์สินอะไร ทำไมถึงมีความน่าสนใจขนาดนี้

นักศึกษาดีกรีแชมป์เวทีการประกวด Young Financial Star (YFS) ประเทศไทย 2016 เริ่มออมเงินด้วยการลงทุนในหุ้น ตอนเข้าเรียนปี 1 จากหุ้นที่เขาเคยรู้จัก จนขึ้นปีที่ 3 ที่ปีกเริ่มกล้าขาเริ่มแข็ง เขาจึงเริ่มกระจายการลงทุนผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมประมาณ 50% เพื่อการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้นต่างประเทศ หุ้นกู้ ทอง อสังหาฯ เป็นต้น เนื่องจากง่ายต่อการซื้อขายและบริหาร และลงทุนในหุ้นไทยด้วยตนเองประมาณ 40% เพื่อหาผลตอบแทนให้มากที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

“การออมเงินไว้ในพอร์ตลงทุน ทำให้ผมมีเงินเก็บสะสมในบัญชีถึง 6 หลัก ซึ่งยิ่งทำให้ผมสนใจศึกษาเรื่องเทคนิคการลงทุนมากขึ้น พบว่า สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการลงทุน คือ การหมั่นหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะทำให้รู้ว่าโลกกำลังดำเนินไปในทิศทางใด และพยายามตีสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นราคาหุ้นที่ควรจะเปลี่ยนให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ความรู้มาจากการเรียนของคณะบัญชีฯ เช่น วิชา International Finance และวิชา Financial Policy and Strategy ที่ช่วยให้ผมสามารถประเมินแนวโน้มและวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทได้”

 

นัน-นันพิชา จูงศิริวัฒน์

 

นันพิชากลั่นความรู้และประสบการณ์ออกมาเป็น 5 เทคนิคแนะนำการลงทุนในหุ้นฉบับง่ายๆ มาฝากคนเจน Z ที่อยากเป็นนักลงทุน ดังนี้

1.ทำความเข้าใจ กำไร ขาดทุน ของบริษัทก่อน (Income Statement) เพื่อให้นักลงทุนสามารถมองเห็นแนวโน้มของผลกำไรบริษัท เบื้องต้นอาจดูผลประกอบการย้อนไปในอดีต 3 ปีเป็นอย่างต่ำ

2.ดูงบดุลและงบกระแสเงินสดเป็น (Balance Sheet & Cash Flow Statement) งบดุลจะทำให้นักลงทุนได้ทราบถึงฐานะทางการเงินของบริษัท ณ จุดเวลาหนึ่ง เช่น มีเงินสด สินค้าคงเหลือ หนี้สั้น-ยาว กำไรสะสม เท่าไหร่ ทำให้เราพอเดาได้ไม่ยากมากนัก

3.ตีมูลค่าหุ้นในบริษัทให้เป็น (Stock Valuation) ขั้นตอนนี้มีหลายวิธีมาก แต่ละวิธีก็ดีคนละแบบ อย่างผมจะใช้อัตราส่วนต่างๆ มาจับ เช่น P/E Ratio, P/B Ratio เป็นต้น เช่นรู้ P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรม และกำไรปีหน้า เราก็สามารถหาราคาที่ควรจะเป็นได้คร่าวๆ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว

4.รู้จักบริหารจัดการเงินทุน (Money Management) โดยจะช่วยให้นักลงทุนมือใหม่ไม่เสียเงินแบบเทหน้าตักจนหมดตัว อย่างกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ที่ 20% ด้วยเงินลงทุน 1 แสนบาท ดังนั้นตัวเลขขาดทุนที่รับได้อยู่ที่ 2 หมื่นบาท ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าตังค์หาย 2 หมื่น โอเคไหม เมื่อเทียบกับโอกาสการลงทุนที่ตนจะได้ อาจจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ด้วยว่าถือยาวหรือสั้น และอีกหลายเรื่อง เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไม่มีกฎตายตัว แต่ต้องมีอยู่ในใจก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง

5.มีนิสัยนักลงทุน (Investor Behavior) สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการเป็นนักลงทุนที่ดีจะต้องติดตามข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะข่าวสารที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นประจำ เช่น การขึ้นลงดอกเบี้ยนโยบายของชาติมหาอำนาจ การเลือกตั้ง การออกจากสหภาพยุโรป สงคราม เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อตลาดการเงินเป็นอย่างมาก เพราะอย่างถ้าเกิดสงครามขึ้น ทอง น้ำมัน ค่าเงินเยน สวิสฟรังก์ น่าจะดี ส่วนหุ้นทั่วโลก อนุพันธ์ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นเช่น ETF ก็น่าจะไม่ดี เป็นต้น

“การฝึกคิดเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้บ่อยๆ ผมคิดว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดี” นันพิชากล่าว และทิ้งท้ายว่า

“อะไรที่ทำเงินนั้นยากหมด แต่ไม่ยากเกินความพยายาม”