ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจ |
---|---|
เผยแพร่ |
อุตรดิตถ์บูม ปลูกทุเรียนเกือบ 3 หมื่นไร่ จีนแห่เหมาพันธุ์หมอนทองกว่า 80% คาดปี’60 โกยรายได้กว่า 1,863 ล้านบาท พันธุ์หลินลับแล-หลงลับแล ราคาหน้าสวนยังสูง 300-450 บาท/กก.
นายอำนาจ ปาลาส เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย ว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีผลไม้ขึ้นชื่อหลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 39,759 ไร่ เป็นพื้นที่เก็บเกี่ยว 32,038 ไร่ มีเกษตรกร 4,228 ราย โดยปลูกมากที่อำเภอลับแล เนื้อที่ 33,663 ไร่ รองลงมาคือ อำเภอท่าปลา และอำเภอเมือง เนื้อที่ 4ฐ329 ไร่ และ 1,766 ไร่ ตามลำดับ โดยพันธุ์ทุเรียนที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง มีเนื้อที่ปลูก 29,819 ไร่ หลงลับแล 2,385 ไร่ หลินลับแล 397 ไร่ และพันธุ์พื้นเมือง เช่น ชะนี กระจิบ อีกจำนวน 7,156 ไร่
ในปี 2560 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากกว่าปี 2559 เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีเอื้อต่อการปลูกทุเรียน รวมถึงที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อนกว่า 3 ระลอก ทำให้มีปริมาณฝนเพียงพอ ช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งไปได้ โดยประมาณการผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม 10% มิถุนายน 25% กรกฎาคม 50% และสิงหาคม 15% รวมผลผลิตทั้งหมด 29,244 ตัน แยกเป็นหมอนทอง 23,736 ตัน หลงลับแล 1,320 ตัน หลินลับแล 78 ตัน และพันธุ์พื้นเมือง 4,109 ตัน ทั้งนี้ผลผลิตเฉลี่ย 1 ไร่ ประมาณ 1,000 ตัน
ทั้งนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะส่งออกไปประเทศจีน ประมาณ 80% ซึ่งจะมีล้งและพ่อค้าคนกลางมารับซื้อตามจุดรับซื้อขนาดใหญ่ 10 กว่าจุดทั้งจังหวัด เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์จะออกหลังจากผลผลิตทางภาคตะวันออก เมื่อผลผลิตของภาคตะวันออกลดน้อยลง พ่อค้าคนกลางก็จะมารับซื้อทางภาคเหนือ รวมทั้งบางส่วนส่งออกไปประเทศเวียดนาม และอีกประมาณ 20% จำหน่ายในประเทศ
ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง หลงลับแล และหลินลับแล จำหน่ายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากลักษณะของเปลือกทุเรียนจะบาง หากส่งไปต่างประเทศอาจจะทำให้เปลือกแตก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้โมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะตัดทุเรียนส่งออกที่ความสุกประมาณ 70% ถ้าจำหน่ายในประเทศจะตัดที่ความสุกประมาณ 80%
สำหรับราคาจำหน่ายหน้าสวน พันธุ์หมอนทองอยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) พันธุ์พื้นเมือง 20 บาท/กิโลกรัม พันธุ์หลงลับแล 300-350 บาท/กิโลกรัม พันธุ์หลินลับแล 450-500 บาท/กิโลกรัม (ราคาขายปลีกในกรุงเทพฯ ลูกละประมาณ 800-1,000 บาท) จึงคาดการณ์มูลค่าการจำหน่ายทุเรียนในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1,863 ล้านบาท โดยมาจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 1,424 ล้านบาท พันธุ์หลงลับแล 330 ล้านบาท พันธุ์หลินลับแล 27 ล้านบาท และพันธุ์พื้นเมือง 82 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ทุเรียนอ่อน แต่ยังพบไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ปลูกทุเรียนส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้การเดินทางเข้าไปดูแลหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อนข้างลำบาก เกษตรกรหรือเจ้าของสวนมักจะเป็นผู้ดูแลเอง ไม่จ้างแรงงานมาเก็บจึงทำให้รู้รายละเอียดต่างๆ เลือกเก็บเฉพาะทุเรียนที่มีความสุกพอดีและมีคุณภาพดีมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคเท่านั้น ประกอบกับทางจังหวัดมีมาตรการที่เข้มงวด หากพบเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้จำหน่ายมีการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือซื้อขายทุเรียนอ่อน จะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พาณิชย์จังหวัด ดูแลด้านการตลาด รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอของท้องที่นั้นๆ เพื่อกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดตลอดฤดูการผลิต และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ