จุฬาฯ ประสานขอตรวจเลือด ‘เหยื่อพิษสุนัขบ้า’ ปทุมฯ เผยตรวจหัวหมากว่าครึ่งมีเชื้อ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าที่ จ.ปทุมธานี นั้น เบื้องต้นก็ยังไม่ได้ตัดประเด็นการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทิ้ง ขณะนี้ทางศูนย์โรคติดเชื้อกำลังประสานขอเลือดผู้เสียชีวิต และขอเก็บตัวอย่างเนื้อสมองไปตรวจสอบเพื่อความชัดเจน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และกรมปศุสัตว์ วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 8 กันยายน 2559 ตรวจสมองสุนัขที่ต้องสงสัย คือ กัดคนหรือมีอาการแปลกๆ 579 หัว พบว่า มีไวรัส 279 หัว คิดเป็นร้อยละ 47.67 เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.สงขลา ร้อยละ 55 จ.ชลบุรี ร้อยละ 35 จ.อุบลราชธานี ร้อยละ 31 จ.สมุทรปราการ ร้อยละ 30 จ.กาฬสินธุ์ ร้อยละ 22 จ.ปราจีนบุรี ร้อยละ 17 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 14 จ.สุรินทร์ ร้อยละ 14 จ.บุรีรัมย์ ร้อยละ 12 และ จ.ศรีสะเกษ ร้อยละ 10 ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มีตัวเลขนั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อโรคนี้ ขึ้นอยู่กับการส่งตรวจ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้สุนัข แมว อาการปกติก็สามารถปล่อยไวรัสได้ในน้ำลาย 10 วันก่อนเริ่มมีอาการ

“ตอนนี้วุ่นวายเพราะประชากรสุนัขจรจัดเพิ่มจำนวนขึ้นมาก หลายๆ ครั้งที่เราเห็นผู้ใจบุญมักนำอาหารไปให้สุนัขจรจัดตามสถานที่ต่างๆ ท่านจะได้บุญเพิ่มขึ้นเป็นอีก 10 เท่า หากจะกรุณาแจ้งกรมปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ให้เข้ามาช่วยทำหมันสุนัขด้วยเพื่อตัดการแพร่พันธุ์” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากการควบคุมโรคภายในประเทศแล้วอยากให้คุมเข้มตามแนวชายแดนด้วยแม้จะมีด่านกักกันสัตว์อยู่แล้ว หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการทำพาสปอร์ตสัตว์ ขณะเดียวกัน ในชุมชนต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาถ้าพบสุนัขต่างถิ่น สุนัขจรจัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล