สกว. นำทัพ “นวัตกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม” บุกตลาดเซี่ยงไฮ้

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House  ได้รับเชิญจากหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่สุดในเอเชีย “SIAL CHINA 2017” ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก จัดขึ้นมากว่า 17 ปี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 80,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลก

สกว.จึงเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและต้องการส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน นำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทำวิจัยร่วมกับชุดโครงการไปทดลองตลาดดังกล่าว และทดสอบตลาดให้ผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนากับตลาดเป้าหมาย หากตลาดยังไม่ตอบรับจะได้ปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ก่อนสิ้นสุดโครงการ รวมถึงการแสวงหาและศึกษาแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อนำมาแนะนำผู้ประกอบการของไทย

ผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์มาร่วมจำหน่ายและทดลองตลาดในครั้งนี้มีจำนวน 5 บริษัท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาเสร็จแล้ว 3 ผลิตภัณฑ์ และอยู่ระหว่างกระบวนการวิจัยและพัฒนา 2 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชุดโครงการฯ ไปร่วมแสดงด้วยเพื่อทดลองตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้กับต่างชาติรู้จัก เนื่องจากการออกแสดงสินค้าในหลาย ๆ ครั้ง พบว่าบางผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูงยังไม่รู้จัก ทำให้ต้องมีการแนะนำผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลมาปรับปรุงให้สามารถตอบสนองต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป นอกจากนี้ยังมีเวทีจับคู่ผู้ประกอบการกับตัวแทนจำหน่ายเพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้า

“ผู้ประกอบการไทยจะได้เห็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารระดับโลก ซึ่งจะแบ่งโซนแสดงสินค้าออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น ส่วนผสมของอาหาร ผลิตภัณฑ์ออแกนิก ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพสำหรับเด็ก เป็นต้น โดยคาดหวังว่าเราจะช่วยยกระดับจีดีพีของประเทศด้วยการสร้างนวัตกรรมภายใต้เอสเอ็มอี และเพิ่มมูลค่าการส่งออกเอสเอ็มอีให้กับประเทศ รวมถึงการสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยเราพยายามจะสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการได้เจอตัวแทนจำหน่ายของประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมงาน ThaiFex และงานแสดงสินค้าของต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มจับกระแสได้ว่าตลาดไหนชอบอะไร แต่งานจะต้องมีนวัตกรรมเข้ามาเสริมโดยใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมาเพิ่มมูลค่าการส่งออก การที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะติดต่อมาออกบูธในงานระดับนานาชาติเองไม่ใช่เรื่องง่าย สกว.จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือติดต่อให้ผู้ประกอบการได้ออกงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และช่วยเจรจาต่อรองทางการค้า รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการส่งออกตามที่ผู้ประกอบการต้องการ” รศ. ดร.พงศ์พันธ์ กล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำมาร่วมแสดงในงานครั้งนี้ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ข้าวต้มมัดไส้ทุเรียนสเตอริไรส์และข้าวต้มมัดไส้เผือกสเตอริไรส์บรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ โดยบริษัท โรสอารยา จำกัด ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอัดก๊าซที่ใช้น้ำตาลมะพร้าวเป็นสารให้ความหวานและเครื่องดื่มอัดก๊าซที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมจากกล้วยตาก โดยบริษัท เก้ากรเทรด จำกัด ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรออแกนิกเพื่อสุขภาพบรรจุซองพร้อมชง “เรวดี” โดยบริษัท โกลเด้นเรย์ จำกัด ซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภคชาด้วยการพัฒนาชาใบหม่อนร่วมกับสมุนไพรไทยชนิดอื่น ๆ ในรูปของ “แผ่นชาละลายง่ายในน้ำ” ที่มีจุดเด่น คือ เป็นแผ่นฟิล์มชาละลายง่ายในน้ำที่คงกลิ่น รส สี และความหอมของชา พกพาสะดวก และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย รวม 4 สูตร ได้แก่ Red Charming ผสมกุหลาบและกระเจี๊ยบ ช่วยลดความดันและน้ำตาลในเส้นเลือด Sleeping Beauty ผสมลาเวนเดอร์และอัญชัน ช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น Happy Heart ผสมดอกมะลิช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด และ Golden Ray สูตรรวมสมุนไพร

โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และผู้รักสุขภาพทั่วไป นอกจากนี้ยังส่งออกไปจำหน่ายในประเทศตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย อังกฤษ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ขณะนี้กำลังเจรจาผ่านตัวแทนจำหน่ายเพื่อขยายธุรกิจในประเทศบรูไน รวมถึงเจรจากับฟู้ดแลนด์ และคิง พาวเวอร์ เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย

 

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการทดลองตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทองม้วนสอดไส้ช็อกโกแลตขาวผสมกลิ่นรสทุเรียน ของวิสาหกิจชุมชนแก้วเจ้าจอม ที่มีจุดเด่นคือการสอดไส้ช็อกโกแลตกลิ่นรสทุเรียนกับความกรอบของทองม้วนให้เข้ากันและคงความกรอบของทองม้วนไว้ได้นาน ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ Wel-B (เวล-บี) ที่มีวัตถุดิบหลักคือ ถั่วเหลือง งาดำ ฟักทอง แครอท และกล้วยน้ำว้า รวม 4 สูตร ได้แก่ บำรุงสมองและความจำ บำรุงสายตา ป้องกันโรคเบาหวานและมะเร็ง บำรุงหลอดเลือดและหัวใจ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาสุขภาพ และผู้รักสุขภาพทั่วไป โดยขนมดังกล่าวใช้การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยที่ยังคงรักษาจุดเด่นให้มีรสชาติอร่อย ปราศจากน้ำมัน และสารปรุงแต่ง คงคุณค่าทางอาหารไว้อย่างเต็มที่ คัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อให้เป็นขนมที่ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อโรคเฉพาะทางได้

ตลอดระยะเวลาของการจัดงานนั้น ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์จาก สกว. ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและตัวแทนจำหน่ายเป็นอย่างดี โดยชาเรวดี มียอดจำหน่ายและการเจรจาธุรกิจค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยจุดแรกที่คนให้ความสนใจคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงามน่าดึงดูด โดยสูตรชาที่จำหน่ายได้มากที่สุด คือ ชากุหลาบ เพราะใกล้เคียงกับชาของจีนมากที่สุด

ขณะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจชาลาเวนเดอร์ซึ่งช่วยในการผ่อนคลายและนอนหลับง่ายขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวอบแห้ง Wel-B มีผู้สนใจติดต่อธุรกิจด้วยเกือบ 50 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจีน นอกจากนี้ยังมีสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์และฮ่องกง สินค้าที่นิยมมากที่สุดคือ ขนมอบแห้งรสทุเรียนและสตรอว์เบอร์รีซึ่งมีรสชาติอร่อย บรรจุภัณฑ์แบบซองขนาดเล็กสะดวกต่อการพกพาและรับประทานง่าย เช่นเดียวกับทองม้วนและข้าวต้มมัดไส้ทุเรียนที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนที่ชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่เครื่องดื่มอัดก๊าซมีรสชาติแปลกใหม่เป็นที่สนใจเฉพาะกลุ่ม

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวระหว่างการเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยรวมถึง สกว. ว่ารู้สึกชื่นชมการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามกว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดส่งออกปัจจุบัน นับว่า สกว.มาถูกทางแล้ว จึงอยากให้กำลังใจในการทำงานต่อไป อย่างไรก็ตามอยากให้ สกว.ศึกษาทิศทางการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับสินค้าไทย และเพิ่มการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการนอกเหนือจากการจดสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบสินค้า รวมถึงต้องมีตัวอย่างให้ชิมด้วยเนื่องจากเป็นของใหม่สำหรับตลาดต่างประเทศ โดยจะต้องสอบถามให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ที่สำคัญต้องตั้งราคาให้สามารถจำหน่ายได้จริง ทั้งนี้อยากให้ สกว.ขยายกรอบโครงการให้กว้างขึ้นซึ่งตนยินดีให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการและทีมงาน สกว. ในการฝึกอบรมและการทำตลาดในประเทศจีนด้วย

เช่นเดียวกับ น.ส.บุณิกา แจ่มใส กงสุลพาณิชย์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ที่ให้คำแนะนำหลังจากทดลองชิมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย สกว. ว่าผลิตภัณฑ์ของไทยจะต้องเร่งจดเครื่องหมายการค้า รวมถึงลงทุนสร้างแบรนด์และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักผ่านการประชาสัมพันธ์ เช่น เว็บอี้เฮ้าเตี้ยนซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่โด่งดังที่สุดในเซี่ยงไฮ้ หรือผ่านบริษัทตัวแทนนำเข้าของไทยที่ได้รับการยอมรับในจีน แต่ในระยะยาวคงต้องจัดตั้งบริษัทของตัวเองให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ควรจะต้องดึงจุดเด่นที่จีนไม่มี รสชาติไม่หวานมากเพราะคนจีนไม่ชอบหวาน และต้องวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เพราะคนที่เซี่ยงไฮ้มีฐานะค่อนข้างดี บรรจุภัณฑ์ก็ต้องมีความสวยงาม แม้จีนจะมีของนำเข้าจำนวนมากแต่ก็ยังมีช่องว่าง ต้องสร้างรูปแบบการจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้าหรือตลาดออนไลน์

“ปัจจุบันตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีศักยภาพสูงมาก ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีรสนิยมและชื่นชอบอาหารไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเนื่องจากมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน นอกจากรสชาติดีแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลไม้ไทยที่นำเข้ามาในตลาดจีนมีทั้งของสดและแปรรูป โดยทุเรียนเป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงมาคือ มะพร้าวซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก สำหรับกระแสในอนาคตนั้นนครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่จึงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นอันดับแรก ขณะที่ราคาก็ต้องสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้” น.ส.บุณิกา กล่าว