เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตติดต่อ 5 ไตรมาส อานิสงส์ส่งออก-เจ้าภาพโอลิมปิก

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศผลการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2017 มีอัตราการเติบโต 2.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า   ซึ่งถือเป็นการขยายตัวไตรมาสติดต่อกัน 5 ไตรมาส ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นนานกว่า 10 ปี

ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการส่งออกที่เติบโตขึ้น 0.3% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 ซึ่งสอดรับกับความคาดหวังของตลาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับผลจากเงินเยนอ่อนค่าลงช่วยให้ภาคการส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสามารถทำกำไรได้มากขึ้นเมื่อมีการส่งรายได้กลับเข้าประเทศ

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 0.4%

“การส่งออกเป็นภาคส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็ดูไม่แย่เท่าไหร่” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งโนมูระ ซีเคียวริตีส์ “มาซากิ คุวาฮาระ” กล่าว

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของผู้บริโภคยังกล่าวได้ว่าน้อย ขณะที่ความพยายามเอาชนะปัญหาภาวะเงินฝืดยังคงไม่เป็นผล  แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan หรือ BOJ) จะมีการนำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินก็ตาม

นอกจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งผ่านการส่งออกแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นก็เร่งกระตุ้นการลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา

ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้ประสบภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะกำลังซื้อลดลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว

ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดต่อกัน 5 ไตรมาส ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย หลังจากเมื่อปี 2006 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ชื่อ “จุนอิชิโระ โคอิซึมิ” ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสล่าสุดถือเป็นข่าวดีสำหรับ “ชินโซ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งรับภารกิจต่อจากโคอิซึมิ

จากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาต่อเนื่อง “อาเบะ” ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งพร้อมแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า “อาเบะโนมิกส์” นโยบายผสมผสานระหว่างมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน การรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยที่บีโอเจตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2019

อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังขาจากนักวิเคราะห์หลายสำนักว่า การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเช่นนี้จะต่อเนื่องไปได้ไกลแค่ไหน เนื่องจากปัญหาเดิม ๆ ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งอัตราประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง และแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด

“ตัวเลขที่ออกมาถือว่าดีอยู่ แต่ไม่คิดว่ามันจะเติบโตต่อเนื่องแบบนี้ต่อไปได้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากความวุ่นวายที่ทำเนียบขาว ความอ่อนไหวจากความเสี่ยงในตลาดจะกดดันให้เยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแน่นอน” ทาคาชิ ชิโอโนะ นักเศรษฐศาสตร์จากเครดิตสวิสกล่าว

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์