เผยแพร่ |
---|
“โคเรีย คิง” เอฟเฟ็กต์ ทีวีโฮมช็อปปิ้ง 1.2 หมื่นล้าน สะเทือน หวั่นป่วนยอดขายทั้งระบบ คคบ.จัดหนัก ไล่บี้ต่อ จ่อเรียก 300 บริษัทแจงด่วน ลั่นคุมเข้ม โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ตั้งราคาสูงแต่ลดกระหน่ำหวังกระตุ้นการซื้อ ด้านสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้งเรียกสมาชิกประชุมด่วน จับตากระทบรายได้โฆษณาช่องทีวี ฟาก อสมท สั่งยุติโฆษณาโคเรีย คิง ทุกช่องทาง
ข่าวดังต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ 3 “กระทะโคเรีย คิง” หรือที่ชาวบ้านเรียก “กระทะวู้ดดี้”
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สั่งระงับโฆษณาสินค้านี้ทุกช่องทาง ฐานโฆษณาเกินจริง ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดทีวี-โฮมช็อปปิ้ง ที่มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท และส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการโฮมช็อปปิ้งรายอื่น ๆ
คคบ.เข้มขยายผลตรวจเพิ่ม
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สคบ.ได้ประชุมคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง เพื่อพิจารณาปัญหากรณีกระทะโคเรีย คิง โดยเรียก บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด หรือโคเรีย คิง (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้มาชี้แจง เบื้องต้นได้สั่งระงับการโฆษณา และอยู่ระหว่างตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการโฆษณาขายสินค้าในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าจำนวนมากใช้วิธีการแบบนี้และทำตลาดผ่านอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ทีวีออนไลน์ ทีวีดิจิทัล ฯลฯ จึงสั่งการให้ สคบ.ขยายผล
“ส่วนกระทะโคเรีย คิง หากผลตรวจสอบคุณสมบัติสินค้าพบว่าไม่เป็นไปตามที่ได้โฆษณา สคบ.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์ นำข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้า และข้อเท็จจริงมาพิสูจน์หักล้างข้อสงสัยได้”
จ่อเรียกสินค้า 6 รายการชี้แจง
เลขาธิการ คคบ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คคบ.อยู่ระหว่างทำหนังสือเรียกผู้ประกอบการสินค้าอีก 5-6 รายการ ที่อาจจะมีปัญหาลักษณะเดียวกันมาชี้แจง เบื้องต้นพบว่า มีการโฆษณาทางทีวีของไฟฉายแบรนด์หนึ่งที่ตั้งราคาขายสูง แล้วลดราคาลงอย่างมาก พร้อมแถมสินค้าซื้อ 1 แถม 1 และระบุในโฆษณาว่าให้ความสว่าง และแข็งแกร่งทนทาน ซึ่งแนวทางการทำงานจากนี้ไปจะมีการตรวจสอบเข้มงวดขึ้น จากนั้นจะทยอยทำหนังสือเรียกให้เข้ามาชี้แจงเพิ่ม
“สคบ.ได้ตั้งทีมเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งคอยตรวจสอบดูแลการโฆษณาสินค้าทางสื่อสมัยใหม่ทั้งระบบโดยเฉพาะ หากพบว่ามีโฆษณาเกินจริง จะใช้อำนาจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงฯ ดำเนินการ แต่บุคลากรมีเพียง 155 คน อาจทำให้ควบคุมดูแลได้ไม่ทั่วถึง”
นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ คคบ.กล่าวว่า ที่เรียกให้ผู้ประกอบมาชี้แจงเพิ่ม 5-6 รายคือผลิตภัณฑ์ไฟฉาย กระทะยี่ห้ออื่น ๆ เครื่องออกกำลังกาย สินค้าเสริมความงาม ฯลฯ
นอกจากนี้ สคบ.ยังจะเรียกผู้ประกอบการขายตรงที่ใช้ช่องทางทีวีขายตรง และการตลาดแบบตรงอีกกว่า 300 ราย มาตรวจสอบและชี้แจงข้อมูล จะใช้เวลา1 เดือนตรวจสอบประเมินผลอีก 3 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 6 เดือนจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน
ส่วนความคืบหน้าการสั่งห้ามโฆษณาของโคเรีย คิง จะแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบการทราบใน 4 แนวทาง คือ 1.ให้แก้ไขข้อความที่ไม่ชัดเจน 2.ห้ามใช้ข้อความ หรือให้ตัดข้อความในโฆษณาบางส่วนออก 3.ห้ามโฆษณาทั้งหมด 4.ให้โฆษณาแก้ไขสิ่งที่ผิด ในความเห็นของตน มติเรื่องนี้เป็นการห้ามโฆษณาทั้งหมด
“หากผลตรวจสอบพบว่าเป็นการโฆษณาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเรื่องคุณภาพ สภาพสินค้า สคบ.จะเสนอ คคบ.ให้ดำเนินการในทางอาญาตามกระบวนการต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจช่องโฮมช็อปปิ้งต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาสินค้าด้วยกลยุทธ์ลดราคาเป็นจำนวนมาก เช่น ชุดชั้นในแบรนด์ A ปกติราคา 5,990 บาท ซื้อภายในเวลาที่กำหนด ลดเหลือ 1,990 บาท จูงใจซื้อ 1 แถม 1 เซตกระเป๋าสะพาย และกระเป๋าใส่ธนบัตร ฟรีชุดเครื่องประดับ ราคาปกติ 4,580 บาท ลดเหลือ 1,190 บาท
ส.โฮมช้อปปิ้งเรียกประชุมด่วน
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทขายตรงทางทีวีรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเกิดกรณี โคเรีย คิง ขึ้น ทำให้ตลาดโฮมช็อปปิ้ง-ทีวีช็อปปิ้งค่อนข้างปั่นป่วน และทำให้แต่ละรายต้องกลับมาทบทวนและวางแผนการทำการตลาด การโฆษณากันใหม่ และที่กังวลกันมากก็คือ การใช้กลยุทธ์ราคา โปรโมชั่นราคาของแถม แบบไหน อย่างไรถึงจะไม่ผิดกฎหมาย และหากทำไม่ได้ก็อาจจะกระทบธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ
ในการกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค แต่ที่สำคัญคือตอนนี้ ในแง่ของยอดขายของทุก ๆ ค่ายสะดุดลง ซึ่งเป็นผลในเชิงจิตวิทยาที่ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในสินค้าและโฆษณา
ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ประกอบการโฮมช็อปปิ้งรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาชิกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) ที่ประกอบด้วย 6 รายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ทีวี ไดเรค, บริษัท ทีวีดี โมโม่ จำกัด, บริษัท ทรูจีเอส จำกัด,บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด, บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) และบริษัท ไฮชอปปิ้ง จำกัด ได้ตกลงกันว่าจะให้ นายทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมฯเป็นผู้ให้ข้อมูลคนเดียว และวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะประชุมสมาคมอีกครั้ง
จากการสอบถามไปยัง นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) ได้รับคำชี้แจงว่า “ยังไม่สะดวกให้ข้อมูล แต่นโยบายและแนวทางการทำตลาดของผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
ก่อนหน้านี้ นายทรงพล ในฐานะนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวถึงบทบาทของสมาคมว่า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานรัฐ และแนวทางการตลาดของสมาชิกด้วยกันเอง
“ที่ผ่านมามีการพูดคุยต่อเนื่อง ส่วนการปรับทิศทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้มีการโอ้อวดสรรพคุณสินค้าเกินความเป็นจริง”
จับตา…กระทบรายได้ช่องทีวี
แหล่งข่าวจากวงการเอเยนซี่โฆษณาให้ข้อมูลว่า การระงับโฆษณาของโคเรีย คิง ตามคำสั่งของ คคบ. เบื้องต้นอาจจะมีผลกระทบกับเม็ดเงินโฆษณาของช่อง 9 อสมท บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา โคเรีย คิง โฆษณาผ่านช่อง 9 ค่อนข้างมาก ล่าสุดช่อง 9 ได้ยุติโฆษณานี้แล้ว
สอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.อสมท ระบุกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ยุติการออกอากาศโฆษณาโคเรีย คิง แล้วทุกช่องทางหลังแก้ไขเนื้อหาแล้ว จะกลับมาออกอากาศอีกหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง
นายณรงค์ ตรีสุชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด เอเยนซี่โฆษณา แสดงความเห็นว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกับกระทะโคเรีย คิง ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการโฮมช็อปปิ้งรายอื่น ๆ ระมัดระวังเรื่องการโฆษณาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (19 พฤษภาคม) ยังไม่มีรายงานว่าโฮมช็อปปิ้งมีการยกเลิกโฆษณาออนแอร์ขายสินค้าในฟรีทีวีช่องต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกองเซ็นเซอร์ของแต่ละช่องทีวีว่าจะมีนโยบายอย่างไร
นางสาวมาลี กิตติพงศ์ไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินิชิเอทีฟ ในเครือไอพีจี มีเดียแบรนด์ส มีเดียเอเยนซี่ระบุว่า การซื้อขายโฆษณาลักษณะนี้จะเป็นซื้อตรงระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าของสถานี ส่วนโคเรีย คิง ต้องรอฟีดแบ็กจากทางช่องทีวีก่อนว่า หลังจากนี้จะมีมาตรการอะไรออกมาอย่างไร ซึ่งจากกรณีของกระทะโคเรีย คิง จะทำให้แนวทางการโฆษณาของสินค้าลักษณะนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์