กรมส่งเสริมสหกรณ์ ออก2แนวทางสกัดปัญหา ตั้งกองทุนช่วยเหลือ-ตรวจสถานะการเงินถี่

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์ เคหะสถานนพเก้า จำกัด ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งให้หาแนวทางป้องกันและแก้ไข ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนี้1.หาแนวทางกำกับดูแลและส่งเสริมสหกรณ์ โดยเพิ่มการตรวจสอบสถานะการเงินอย่างต่อเนื่อง จากเดิมปีละ1 ครั้งเพื่อใช้เป็นระบบเตือนภัย พร้อมกับออกเกณฑ์ต้องรายงานธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพมากขึ้น คาดว่าปลายเดือนมิถุนายนี้จะอบรมให้แล้วเสร็จ

“ ช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านการใช้ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณานั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับขึ้นมาดูแล ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลัง หากพ.ร.บ.ได้รับความเห็นชอบ จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามากำกับดูแลติดตามสถานะการเงินของแต่ละสหกรณ์ วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ดำเนินการตรวจสอบให้ครบประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบเตือนภัย กรณีพบว่าจะมีเหตุร้ายแรง กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปตรวจสอบทันทีและใช้กฎหมายใหม่ที่นายทะเบียนมีอำนาจจัดการและมีบทลงโทษที่ร้ายแรงเข้าไปดำเนินการ “นายวิณะโรจน์ กล่าว

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า 2.การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการใน 2 ระดับ คือ การจัดตั้งบัญชีร่วมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสหกรณ์ เป็นปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.) ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดตั้งบัญชีร่วมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสหกรณ์ นั้นจะระดมเงินจากธนาคารของรัฐ สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ และเงินทุนของสหกรณ์ขนาดใหญ่ ระยะสั้น 2-5 ปี หรือระยะยาว 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 6 % เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ทีเอฟเอฟ) หรือปล่อยกู้กับสมาชิกโดยตรง แล้วนำส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ได้รับ ไปใส่ไว้ในกองทุนและช่วยเหลือสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องโดยการกู้ยืมระยะสั้น โดยวิธีการดังกล่าว ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่ให้ความเห็นชอบและยื่นข้อเสนอปล่อยกู้เงินแล้ว 11 สหกรณ์ วงเงิน 5,272,448,305 บาท

สำหรับการอุดหนุนกพส.นั้น ปัจจุบันมีการเก็บอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 3-4 % เมื่อครบกำหนดชำระ กพส.จะหักคืนให้กับสหกรณ์ในอัตรา 1 % เข้ากองทุนช่วยเหลือฯ ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์กู้เงิน กพส.จำนวน 1,038 แห่ง เป็นจำนวนเงิน 2,518 ล้านบาท ซึ่งต้องอุดหนุนเป็นเงิน 25.18 ล้านบาท อีกทั้งจะหารือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อพิจารณาอุดหนุนเงินบางส่วนจากจำนวนเงินที่สหกรณ์ที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยไว้แล้ว เข้าทุนช่วยเหลือดังกล่าว นอกจากนี้ กรมจะหาแนวทางเพื่อนำเงินทุนสำรองไว้ 10% ของกำไร มาใช้เป็นประโยชน์ในระยะสั้น หรือชดเชยการขาดทุนช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีปัญหา

 

ที่มา มติชนออนไลน์