วิสาหกิจระยองปิ๊งแปรรูปอาสนะยางพารา ติดแบรนด์ “Kaika” ทะลวงตลาดออนไลน์

แม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่การแปรรูปยางพารากลับสวนทาง

ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องความยากลำบากของการเข้าถึงองค์ความรู้ แหล่งทุน เครื่องจักรที่ทันสมัย ไปจนถึงการหาตลาดรองรับ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่อุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยคนไทยจะเบ่งบาน แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

“ศันสนีย์ เจริญรมย์” หรือ ปุ๋ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุุมชนบ้านเนินสว่าง หมู่ 6 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เจ้าของผลิตภัณฑ์จากยางพารา อาทิ ที่นอน หมอน และอาสนะ ภายใต้ชื่อแบรนด์ Kaika (ไก่กา) ที่ปัจจุบันเริ่มฮิตติดตลาด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงยางราคาตกต่ำ ทำให้ที่บ้านซึ่งมีอาชีพเกษตรกรรมปลูกยางพาราได้รับผลกระทบ รวมทั้งการสะท้อนปัญหาจากชาวบ้านมาให้น้องชายที่เป็นผู้ใหญ่บ้านฟัง จึงเริ่มคิดทำธุรกิจแปรรูปยางพาราขึ้น โดยการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจ เริ่มต้นมีสมาชิก 15 คน เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน ใช้เงินทุนของครอบครัวนำมาซื้อเครื่องจักร และสร้างโรงเรือนประมาณ 2 แสนบาท

 

ศันสนีย์เล่าว่า แม้ภาครัฐจะหันมาสนับสนุนเรื่องยางพารามากขึ้น แต่เรื่องข้อมูลต่าง ๆ เราต้องวิ่งหาเอง ใช้เวลาศึกษาข้อมูลเป็นปี กระทั่งเจอฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย สอนทำน้ำยางข้นชนิดครีม ซึ่งเป็นการผลิตน้ำยางข้นด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อน เพื่อจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ผลปรากฏว่ายังไม่สามารถนำมาใช้ในงานที่ต้องการรายละเอียดมาก ๆ ได้ปัจจุบันจึงใช้วิธีซื้อน้ำยางข้นจากโรงงานมาผลิต ขณะเดียวกัน ก็ทดลองทำน้ำยางครีมไปด้วย เพราะเป้าหมายของเรา คือ อยากทำน้ำยางครีมใช้เองให้ได้ เป็นการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในหมู่บ้านได้โดยไม่ต้องให้รัฐช่วยแบบเกษตรกรรุ่นเก่า

“เราได้ข้อสรุปว่าจะทำเบาะรองนั่งและอาสนะเพราะเราฝึกนั่งกรรมฐานอยู่แล้วเลยมองสิ่งที่ใกล้ตัวถ้าจะทำที่นอนหมอนก็มีโรงงานใหญ่ ๆ ทำเยอะ เราจะสู้เขาไม่ได้ ก็พยายามหาสิ่งที่ไม่มีใครทำและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ โดยเริ่มต้นแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ นำเตาอบที่ใช้นึ่งเห็ดมาดัดแปลง ปัจจุบันกำลังการผลิตสำหรับเบาะรองนั่งและอาสนะได้วันละ 30-40 ชิ้น มีทั้งหมด 9 รุ่น จะทำสำเร็จไว้ฝากวางขาย และทำตามออร์เดอร์”

 

ปัจจุบันเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ 100% มีทั้งพระและฆราวาส ลูกค้าที่อายุ 45-60 ปี โดยข้อดีของเบาะรองนั่งยางพารา คือ เวลานั่งจะไม่ร้อน ไม่เหนียว และนั่งได้นาน เพราะมีความยืดหยุ่น แต่พระบางรูปก็ติมาว่านั่งแล้วเพลิน นั่งได้นานเกินไปลืมออกจากอารมณ์ แต่หลายรูปก็บอกว่าทำให้นั่งได้นานขึ้น จากเดิมครึ่งชั่วโมงก็นั่งได้เป็นชั่วโมง และเมื่อออกจากกรรมฐานก็ไม่ปวดเมื่อย

นอกจากเบาะรองนั่งและอาสนะแล้ว แบรนด์ Kaika ยังมีหมอน และที่นอนยางพาราด้วย แต่ฉีกจากตลาดใหญ่โดยทำเป็นที่นอนแบบพับ

“ธุรกิจถือว่าเติบโตเพราะว่าเพิ่งเริ่มก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆจากเดิมรายได้เดือนละ2-3หมื่นบาท แต่เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนได้ 7-8 หมื่นบาทแล้ว เดือนนี้ลุ้นให้ได้ 1 แสนบาท”

อย่างไรก็ตาม หลายคนกังวลแทนว่าจะมีคนเลียนแบบ เรื่องนี้เจ้าของแบรนด์ Kaika บอกว่า ไม่กังวล เพราะว่าขณะนี้ถือว่ามีเจ้าเดียวที่ทำอาสนะจากยางพารา หากบริษัทใหญ่ ๆ มาทำก็คงจะทำหลากหลาย และปรับให้ตรงความต้องการลูกค้าทันทีแบบเราไม่ได้ ที่สำคัญกระบวนการทำนั้นไม่ง่ายต้องอาศัยความชำนาญ

 

วันนี้จากธุรกิจแปรรูปยางกลุ่มเล็ก ๆ ปัจจุบันสามารถจ้างแรงงานเย็บปลอกที่นั่ง 6 คน ค่าแรงชิ้นละ 60-70 บาท แม้ว่าจะยังไม่เกิดการหมุนเวียนในหมู่บ้านนัก เพราะธุรกิจเพิ่งเริ่ม แต่เชื่อว่าอีก 1-2 ปีจะเริ่มเป็นรูปร่าง และหากทำน้ำยางครีมสำเร็จจะมีการซื้อน้ำยางสดจากชาวบ้านในหมู่บ้าน 1 พันกว่าคนได้ โดยกลุ่มจะให้ราคาสูงกว่าตลาด 1 บาท ซึ่งคือเป้าหมายของกลุ่ม

ศันสนีย์เผยอีกว่า แผนของปีหน้าจะมีโปรดักต์ออกมาใหม่ เป็นที่นั่งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นออฟฟิศซิมโดรม หรือผู้ที่นั่งทำงานนาน ๆ แล้วปวดหลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับทีมอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

ด้าน “ตติยา เจริญรมย์” หรือเปิ้ล ฝ่ายการตลาดแบรนด์ Kaika อธิบายว่า การตลาดช่วงแรกเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก โดยทำตลาดบนออนไลน์ก่อนผ่านเว็บไซต์ www.kaikarubber.com จุดขายคือ คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้า โดย 80% สามารถตอบโจทย์คนนั่งสมาธิได้ เรามีถึง 9 แบบ โดยกลุ่มพระสงฆ์จะใช้แบบสี่เหลี่ยมมาตรฐาน ส่วนกลุ่มแม่ชีจะชอบแบบ 2 พับ พกพาสะดวก

“ตลาดเบาะรองนั่งขณะนี้มีมาก ยิ่งเศรษฐกิจแย่ ๆ คนยิ่งต้องสงบใจมากขึ้น ต้องนั่งสมาธิกันมากขึ้น การเติบโตต้องบอกว่า ลูกค้าคอลอินเยอะมาก จากการบอกปากต่อปาก เราเริ่มการตลาดจากเพื่อนเรา”

สนนราคานั้นตติยาบอกว่า ต้องการให้คนใช้กันทั่วไป ไม่ทำราคาแพงมากเฉลี่ย 350-1,200 บาท และมีสินค้าพิเศษราคา 2 พันกว่าบาทที่ใช้ยางเยอะ สำหรับคนที่มีน้ำหนักมาก โดยคุณสมบัติของยางพาราเวลานั่งจะไม่ยุบตัวทันที จะมีความยืดหยุ่น ไม่ร้อนเหมือนกับแบบเดิม ๆ ที่เป็นฟองน้ำหุ้มหนัง ที่เวลานั่งจะมีเหงื่อออกตามข้อพับ แต่เบาะยางพาราจะเย็น เนื่องจากยางของเราเป็นยางตีฟอง เวลาเทลงแม่พิมพ์จะเกิดฟองอากาศ ทำให้อากาศถ่ายเท และหุ้มด้วยผ้าฝ้าย ผ้ากันไรฝุ่น มีทั้งแบบธรรมดาและกันน้ำเข้า สามารถนำไปใช้สมบุกสมบันได้

แม้ว่าความนิยมสั่งซื้อออนไลน์จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีคนที่ต้องการเลือกสินค้าด้วยตัวเอง ขณะนี้จึงมองหาหน้าร้านในกรุงเทพฯด้วย ระหว่างนี้ได้ฝากวางขายตามสหกรณ์ ร้านค้าของวัดต่าง ๆ โดยการแนะนำของครูบาอาจารย์

“ตอนนี้เราถือว่ายังเดินเตาะแตะในตลาดในประเทศ เพราะเรายังไม่พร้อมในไลน์ผลิต คือการผลิตของเรายังมีเออร์เรอร์เสียหายอยู่เยอะ เมื่อไหร่เราผลิตได้เต็มสปีด เราก็พร้อมเดินออกต่างประเทศ ล่าสุดได้คุยกับพระพม่าไว้แล้ว เพราะที่พม่าจะเป็นตลาดใหญ่สำหรับอาสนะ วางแผนว่าปลายปีจะไปดูตลาดอีกครั้ง”

ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนับสนุน เพราะไม่เพียงเป็นการพัฒนาให้ท้องถิ่นเติบโตเท่านั้น แต่ยังสร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นในตลาดแปรรูปยางพาราอีกด้วย