‘พยาบาลลูกจ้าง’ ฮือทวงอัตรา อีกโจทย์ใหญ่ สธ.

หากยังจำกันได้ปัญหาการบรรจุตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ยิ่งในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพแล้วก็เคยเกิดปัญหาการรอบรรจุมาตลอด

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัด สธ.นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการ เพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น ส่งผลให้เครือข่ายพยาบาลสังกัด สธ.โดยเฉพาะเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ไม่พอใจอย่างมากและออกมาเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ อาทิ การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กเป็นรูปโบสีดำพร้อมข้อความ คืนความสุขให้พยาบาลŽ และ ไม่บรรจุลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560Ž

กระทั่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. ต้องเรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. ในฐานะผู้ดูแลเรื่องอัตรากำลัง และผู้แทนจากสภาการพยาบาล คือ นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 และได้ข้อสรุปว่า จะขอเข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ., ก.พ., คปร. และหน่วยงานกลางอย่างมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสมในทุกวิชาชีพ แต่เบื้องต้นจะเน้นเรื่องพยาบาลวิชาชีพก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไร และขอให้พยาบาลทุกคนอย่าเพิ่งท้อใจ เพราะนายกรัฐมนตรี และผู้บริหาร สธ.เข้าใจ และอยู่ระหว่างดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับบุคคลในแวดวงสาธารณสุข ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีมติ ครม. ครั้งนี้ ว่า เป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งอาจเป็นเพราะคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คงมองว่า สธ.ขอตำแหน่งแทบทุกปี แม้ตัวเลข 10,922 อัตรา จะเป็นตำแหน่งรวม 3 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 กว่าอัตราก็ตาม แต่ด้วยตัวเลขหมื่นกว่าอัตรา ขณะที่กระทรวงอื่นอาจขออัตราตำแหน่งหลักร้อยหรือหลักพันเท่านั้น แต่บริบทต่างกัน นั่นเพราะ สธ.มีบุคลากรกว่า 4 แสนคน

พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ขาดไม่ได้อีกวิชาชีพหนึ่งในโรงพยาบาล มีภาระงานหนัก เมื่อเทียบกับประชาชนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลจำนวนมหาศาล  ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ รวมทั้งพยาบาลกลับไม่เพิ่ม ส่งผลต่อภาระงานมากมาย ซึ่งจุดนี้หลายคนก็ยังคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า อาจเกิดความไม่เข้าใจ และพยายามเรียกร้องให้ผู้บริหาร สธ.ช่วยเหลือ

น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาล (รพ.) ร้อยเอ็ด ผู้ประสานงานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประจำภาคอีสาน บอกว่า พยาบาลที่ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวรอบรรจุตำแหน่งข้าราชการมาตลอด เมื่อ ครม.มีมติเช่นนี้จึงทำให้หมดหวัง และน้อยใจว่านายกฯไม่เห็นความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเลย อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงปัญหา โดยเปรียบเทียบระหว่างพยาบาลที่ได้รับการบรรจุและที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้น  จะพบว่าพยาบาลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจะมีการปรับเงินเดือน 2 ครั้งต่อปี ครั้งละ 800-1,000 บาท ส่วนลูกจ้างชั่วคราวมีการปรับ 1 ครั้งต่อปี ขึ้นเพียงครั้งละ 500 บาทเท่านั้น

โดยเงินเดือนเริ่มต้นของพยาบาลที่บรรจุเป็นข้าราชการนั้นเดือนละ 15,000 บาท และลูกจ้างชั่วคราวได้เงินเดือนแรกเข้าประมาณ 13,000 บาทต่อเดือน

ส่วนค่าเวรหากมีการทำล่วงเวลามากกว่า 22 วันต่อเดือน จะได้ค่าตอบแทนวันละ 600 บาท ซึ่งก็จะไม่เกิน 3 วัน เท่ากับจะได้ประมาณ 1,800 บาท และค่าเข้าเวรกลางคืนจะได้วันละ 240 บาท ซึ่งจะได้เข้าประมาณ 10 วันต่อเดือน ก็จะได้ประมาณ 2,400 บาท เฉลี่ยแต่ละเดือนจะได้เพิ่มแค่ประมาณ 4,200 บาท ทั้งนี้ก็ไม่แน่นอน จะได้เพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะเงินที่นำมาจ้างเอามาจากเงินสนับสนุนค่าเครื่องมือแพทย์

”จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลรัฐลาออกไปมาก เกิดภาระงานที่หนักกับคนที่ยังปฏิบัติงานอยู่เพราะต้องรับผิดชอบดูแลคนป่วยมากขึ้น” น.ส.รุ่งทิวากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานปลัด สธ.ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวน 100,855 คน เป็นข้าราชการแล้ว 87,252 คน  เป็นพนักงานราชการ 260 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน

ดังนั้น ยังขาดตำแหน่งอีกกว่าหมื่นตำแหน่งที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการ

เรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันตำแหน่งพยาบาลที่บรรจุเป็นข้าราชการแล้วมี 87,252 ตำแหน่ง แต่เมื่อมีการวิเคราะห์และคำนวณตาม FTE (Full Time Equivalent) ซึ่งเป็นหน่วยนับอัตรากำลังการทำงานของ สธ.จะพบว่า จำเป็นต้องมีพยาบาลที่ต้องได้รับการบรรจุอีกราว 9,800-10,000 ตำแหน่ง ซึ่งการคำนวณยึดตามระเบียบ ก.พ. ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วพยาบาลที่ต้องได้รับการบรรจุของ สธ. และจะเพียงพอต่อระบบการบริการต้องอยู่ที่ประมาณ 100,000 ตำแหน่ง ขณะนี้จึงยังขาดอีกราวหมื่นตำแหน่ง

ดังนั้น เมื่อเสนอขอเพิ่มตำแหน่งพยาบาลอีกกว่าหมื่นตำแหน่งในกรอบระยะเวลา 3 ปีต่อ ครม.หากได้ตามนั้น รวมทั้งประสิทธิภาพการจัดการตำแหน่งว่างของ สธ.แล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้ และในปี 2564 ก็อาจไม่ต้องขอตำแหน่งในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

แต่ไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่จำนวน 10,992 อัตรา เนื่องจาก สป.สธ.มีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่เป็นจำนวนมาก มีตำแหน่งว่าง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 จำนวน 11,213 อัตรา หรือร้อยละ 5.8 ของกรอบอัตรากำลังข้าราชการทั้งหมด จำนวน 192,960 อัตรา

ขณะที่ข้อมูลอีกด้านจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยืนยันสาเหตุไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่จำนวน 10,992 อัตรา เพราะพบว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่ถึง 11,213 อัตรา  ควรใช้ตำแหน่งว่างไปกำหนดบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณด้านบุคคลภาครัฐ

และเมื่อพิจารณาสัดส่วนในการให้บริการประชาชนพบว่า จำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือมีพยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 20 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ปัจจุบันของไทยมี 21.4 คนต่อประชากร 10,000 คน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว

การลุกฮือของพยาบาลลูกจ้างครั้งนี้ นอกจากกดดันรัฐบาล ยังต้องตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ สธ.ด้วย…