สูติ-นรีแพทย์ชี้ ‘เนื้องอกรังไข่’ ขนาดใหญ่พบได้ถึง 20 กก. เผยคนโสดไร้ลูกเสี่ยง!!

จากกรณีมีการแชร์ภาพในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์โพสต์ภาพผลการผ่าตัดเนื้องอกรังไข่ขนาด 33 เซนติเมตร น้ำหนัก 8 กิโลกรัม โดยได้ขออนุญาตภาพจากผู้ป่วย เพื่อนำออกมาเตือนให้ดูแลตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้เฟชบุ๊กเมื่อพบเห็นภาพดังกล่าว ต่างแสดงความคิดเห็นกังวล และหวาดกลัวว่าเพราะอะไรถึงมีขนาดใหญ่เช่นนี้

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ- นรีแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.พิจิตร และโฆษกแพทยสภา กล่าวว่า ขนาดที่เห็นถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีขนาดสูงสุดที่เคยพบคือ 20 กิโลกรัม เนื่องจากท้องหรือพุงของเราสามารถขยายได้ใหญ่ เหมือนคนอ้วนมากๆ หรือคนตั้งครรภ์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ส่วนภาพดังกล่าวน่าจะเป็นมุมภาพ จึงทำให้ดูมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงก็เป็นได้ ทั้งนี้ กรณีเกิดเนื้องอกรังไข่นั้น อาจเป็นได้ทั้งมะเร็ง และเนื้องอกธรรมดา ในส่วนของเนื้องอกธรรมดา ก็มีทั้งซีสต์ หรือถุงน้ำ ซึ่งบางกรณีต้องผ่าตัด แต่บางกรณีขนาดไม่ใหญ่ไม่กี่เซนติเมตรก็ไม่ต้องผ่า สามารถหายได้เอง แต่ต้องติดตาม นอกนั้นก็จะเป็นเนื้องอก ซึ่งในส่วนเนื้องอกกับถุงน้ำนั้น จะพบประมาณร้อยละ 10 ของหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ทั่วประเทศ

พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า สาเหตุจริงๆไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่มากเกินไป จึงจะพบเห็นคนโสดเป็นมากกว่าคนที่แต่งงานมีลูกแล้ว เนื่องจากหากมีลูก รังไข่ก็จะได้พัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำต้องผ่าตัดหมด ทางที่ดีต้องรู้จักสังเกตและคลำก้อนเนื้อที่ผิดปกติ และพบแพทย์ดีกว่า อย่างไรก็ตาม  หากมีก้อนในท้อง หลายคนมักคิดว่าอ้วน มีพุงก็ไม่ใส่ใจ แต่จริงๆแล้วต้องสังเกตด้วยว่ามีความผิดปกติอย่างไร โดย 1.หากนอนราบแล้วท้องหรือพุงยังป่องอยู่ถือว่าไม่ปกติ เพราะหากคนอ้วนเมื่อนอนพุงจะไม่ป่องจนผิดปกตินั่นเอง และ2. เวลาไม่ได้ปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะดันก้อนให้ลอยสูงขึ้นติดหน้าท้อง ซึ่งจะรู้สึกแน่นท้อง  หากเรารู้สึกแน่นท้องมากๆ และรู้จักสังเกต หรือคลำบริเวณก้อนเนื้อก็ควรรับไปพบแพทย์ดีที่สุด

“ปัญหาคือ เวลาแน่นมากๆจะรู้สึกหายใจไม่ออก ยิ่งผู้ป่วยโรคปอดโรคหัวใจ หรือคนร่างกายอ่อนแอ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นต้องจับสังเกตให้ดีๆ ส่วนแนวทางการป้องกันนั้นก็อย่างที่กล่าวไว้คือสังเกตเป็นดีที่สุด เพราะไม่ใช่ว่าแต่งงานแล้วจะไม่เป็น เพียงแต่คนโสดมีโอกาสมากกว่าอย่างมีนัยยะเท่านั้น แต่ในกลุ่มที่ประจำเดือนผิดปกติ มากะปริบกะปรอยก็เสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องของฮอร์โมน ควรพบแพทย์ด้วย” พญ.ชัญวลี กล่าว