กม.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน เช็กบิล…แก๊งเงินกู้นอกระบบ

หนี้นอกระบบเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ทั้งเศรษฐกิจ อาชญากรรม และครอบครัว แม้จะมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 บังคับใช้มาแล้วกว่า 84 ปี แต่เนื่องจากปัจจุบันปัญหาหนี้นอกระบบมีการพัฒนารูปแบบไปมากจนกฎหมายฉบับเก่าไม่อาจครอบคลุม เกิดการเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยความอ่อนด้อยของประชาชน และได้ยกระดับขึ้นสู่เครือข่าย “องค์กรอาชญากรรม” ที่มีนายทุนและผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง

ล่าสุด (1 ก.ย. 2559) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

โดยมีสาระสำคัญคือเป็นกฎหมายกลาง บังคับใช้กับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราทั้งหนี้กู้ยืมในระบบสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ การกำหนดความผิดในการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราให้มีความชัดเจน กำหนดความผิดที่มีลักษณะฉกรรจ์ พร้อมทั้งกำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้น คือโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงกำหนดโทษเจ้าหน้ารัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง

นอกจากนั้นยังบัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรวมทั้งให้รมว.ยุติธรรมเป็นผู้รักษาการกฎหมายฉบับนี้

แฉพฤติกรรมทวงหนี้สุดโหด

“พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ปัจจุบันมีการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่สมควรได้ด้วยการเรียกอัตราดอกเบี้ยสูง ๆ เรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นเงินกู้รายวัน กระทำเป็นเครือข่าย ปกปิดวิธีการดำเนินการโดยผู้มีอิทธิพล เป็นองค์กรอาชญากรรมโดยอาศัยธุรกิจบังหน้าในรูปแบบการเช่าซื้อหรือให้กู้เงินด้วย มีการติดประกาศโฆษณาตามที่สาธารณะ เสาไฟ หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยรูปแบบในการให้กู้นั้นมีพฤติกรรมขัดต่อความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ขณะที่ “พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กลุ่มทวงหนี้นอกระบบในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาไปเป็นองค์กรอาชญากรรม บางแห่งมีสมาชิกกว่า 1,000 คน มีกฎระเบียบเป็นของตัวเอง ครอบคลุมทุกจังหวัด คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อ 24 วัน หรือกว่า 300% ต่อปี ซึ่งบางองค์กรมีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 1 แสนคน นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งมักเข้ามาช่วยเหลือองค์กรของตัวเองเมื่อลูกหนี้ไปร้องเรียนและไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ดำรงธรรม

“มีการเปิดบริษัทหลายสิบแห่งบางองค์กรข่มขู่ทำร้ายเหยื่อจนได้รับบาดเจ็บบางรายเสียชีวิตก็ให้คนของตัวเองไปตั้งโต๊ะเก็บเงินช่วยงานศพมาใช้หนี้ หรือบังคับข่มขู่เอาอวัยวะ เช่น ไต ไปผ่าตัดให้กับญาติพี่น้องตัวเอง ซึ่งเมื่อถึงเวลาขึ้นศาลก็ดำเนินคดีได้ยาก ที่สุด ที่ต้องพิสูจน์เจตนาว่า ใครมีหน้าที่กระทำการอย่างไร เพราะทำกันเป็นองค์กร เราจึงต้องมีมาตรการเรื่องสมคบขึ้นมา และมีมาตรการความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม” พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าว 

ห่วง ม.6 “ฟอกเงิน” เป็นยาแรง

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางส่วนมีข้อเสนอแนะและมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมา อาทิ การกำหนดความผิดจากการกระทำที่มีลักษณะสมคบคิดกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น เป็นกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ร้ายแรง สามารถกลายเป็นเครื่องมือ และเป็นการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีการยึดอายัดก่อน เมื่อพิสูจน์แล้วจึงจะนำเอาออกไปได้ เป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิส่วนบุคคล จึงควรดำเนินการด้านกฎหมายให้รอบคอบ

สำหรับในมาตรา 5 ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการให้กู้ยืมนั้นกว้างเกินไป อาจจะทำให้เกิดปัญหากับเอกชนที่ทำตามกฎหมายได้ เช่น การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินทุกประเภทที่มีการคิดค่าปรับตามสัญญา อาจถูกตีความว่าเป็นความผิดฐานอาญา ซึ่งที่จริงเป็นเพียงการคุ้มครองความเสี่ยงและเป็นหลักประกันในการกู้เงินเท่านั้น ดังนั้นหากยืนยันจะใช้ข้อความดังกล่าว กฎหมายนี้ควรออก พ.ร.ก.กำหนดประเภทและรายละเอียดเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินของอาชญากร เพื่อให้มีความชัดเจนที่จะถือเป็นความผิดทางอาญาต่อไป

เช็กบิลอาชญากรรมเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะจากสมาชิกสนช.ต้องการให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายและนิยามที่ระบุไว้ในแต่ละมาตราให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเช่นการนิยามคำว่า “บุคคล” “นิติบุคคล” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ให้มีความหมายครอบคลุมและชัดเจน รวมทั้งกำหนดความชัดเจนของบทลงโทษในแต่ละกรณีให้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะมีคณะกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

นอกเหนือจากบทลงโทษแล้ว ยังมีการเสนอให้รัฐบาลมีช่องทางต่าง ๆ เป็นกลไกอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากหนี้นอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวได้ง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหนี้นอกระบบจำนวนมากอาจเป็นศาลากลางโรงพัก ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่ศูนย์ดำรงธรรม

ควรมีกลไกปกป้องคุ้มครองเหยื่อที่มาขอใช้สิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกระทำซ้ำได้อีก ที่สำคัญควรมีการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักใช้เงิน ไม่เป็นหนี้มากเกินไป มีการพัฒนาบุคคลเหล่านี้ให้หาช่องทางการผ่อนปรนการกู้เงินต่าง ๆ จากหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบด้วย

หากได้ประกาศใช้ในอนาคตก็จะเป็นหนึ่งในความหวังที่ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแก๊งหมวกกันน็อกที่ระบาดอยู่ทั่วเมืองไทยและประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรม