ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรณีเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์เข้าไปยึดรถ แต่ถูกตำรวจชักปืนขู่ หลังค้างค่างวดมาเป็นเวลานาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ มีการแชร์ข้อคิดเห็นจาก ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความ วิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายจากเรื่องดังกล่าว ลงเฟซบุ๊ก “ดร. สุกิจ พูนศรีเกษม” ระบุว่า กรณี ด.ต.เอกฉัตร ได้รับแจ้งจากภรรยาว่า ได้มีชายฉกรรจ์กับพวกมาล้อมรถและยึดกุญแจรถไว้ โดยมีเหตุควรเชื่อว่าโดนปล้น สามีชึ่งเป็นนายดาบตำรวจก็ออกมาช่วยโดยพบชายฉกรรจ์ดังกล่าว สอบถามได้ความว่าเป็นไฟแนนซ์มายึดรถแต่ไม่มีหลักฐานอะไรมาแสดงให้เห็นว่าเป็นความจริงคงเพียงแต่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมมีเหตุเชื่อได้ว่าชายฉกรรจ์กับพวกประสงค์ร้ายต่อทรัพย์ นายดาบตำรวจ เอกฉัตร จึงมีเหตุที่จะพกปืนเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของภรรยาได้โดยชอบ การกระทำของนายดาบตำรวจผู้นั้นจึงไม่มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนโดยไม่มีเหตุอันควร ที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ ชายฉกรรจ์ กับพวก มีสิทธิที่จะยึดรถที่ค้างค่างวดบริษัทไฟแนนซ์หรือไม่ เห็นว่าตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ไม่ได้ให้อำนาจให้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ แต่หากบริษัทไฟแนนซ์จะเข้าครอบครองรถคันที่เช่าซื้อจะต้องได้รับความยินยอมจากให้ผู้เช่าชื้อเป็นหนังสือ หรือหมายบังคับคดีของศาลที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์คันดังกล่าวเป็นหมายศาลจึงจะกระทำได้ ชายฉกรรจ์กับพวกจึงไม่มีสิทธิยึดรถที่ชาวบ้านที่ค้างค่างวดได้โดยลำพัง เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อ
นอกจากนี้ ชายฉกรรจ์กับพวกยังนำเอาเหตุที่ผิดหวังจากการยึดรถไปลงประจานในสื่อออนไลน์ว่าผู้เช่าซื้อค้างค่างวดรถเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เรื่องการนำข้อมูลของลูกหนึ้ไปเผยแพร่โพสต์ข้อความประจานลูกหนี้ เข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ วรรค (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรค (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ
พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินคดีกับชายฉกรรจ์ดังกล่าวในความผิดฐานปล้นทรัพย์ และความผิดฐาน พ.ร.บ.ทวงหนี้ พ.ศ.2558 และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพโดยมีเหตุฉกรรจ์เพราะเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดินโดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์เสียก่อน มิฉะนั้นท่านอาจมีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่นะครับ