“รังนกถ้ำชุมพร” เจอปัญหารุมเร้า3เด้ง จีนไม่ซื้อ-ถูกตัดราคา-ค้างจ่ายอากร500ล้าน !

ผู้รับสัมปทานรังนกอีแอ่นชุมพรเดือดร้อนหนัก หลังจีนยังกีดกันนำเข้ารังนกไทยยืดเยื้อกว่า 3 ปี แถมเจอคู่แข่ง “รังนกบ้าน” ตัดราคาขายถูกกว่าเท่าตัว “ซีโกลด์ เบิร์ดเนสท์” เผยค้างจ่ายอากรรังนกให้จังหวัดกว่า 500 ล้านบาท วอนรัฐบาลช่วยเจรจาจีนปลดล็อกส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ชุมพร ว่า เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พล.ท.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลังงาน อาหาร โดยมีนายณรงค์ พลละเอียด ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้มีการพิจารณาปัญหาการจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น หลังจากประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ได้กีดกันรังนกถ้ำจากเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากมีการตรวจพบสารปนเปื้อนในรังนกจากประเทศมาเลเซียทำให้รังนกถ้ำของไทยไม่สามารถส่งออกไปจีนได้เหมือนเดิมและยังทำให้การจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นายนิตย์แดงขวัญทอง ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดชุมพร กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ไม่สามารถจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากรังนกถ้ำจากชุมพรไม่สามารถส่งออกไปขายที่ประเทศจีนได้ตามปกติ ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเก็บรังนกถ้ำตามเกาะต่าง ๆ หลายรายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างตำรวจ และพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อเฝ้ารังนกเดือนละประมาณ 1 แสนบาท

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รังนกถ้ำได้รับผลกระทบก็คือ มีผู้ประกอบการรังนกบ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการตัดราคากัน เนื่องจากรังนกถ้ำมีราคากิโลกรัมละประมาณ 60,000 บาท ขณะที่รังนกบ้านมีราคากิโลกรัมละ 20,000-30,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าประมาณ 1 เท่าตัว

นายณรงค์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ชุมพรมีผู้ประกอบการรังนกบ้านรายใหญ่คือ บริษัท ตี๋บ้านนก 2005 จำกัด ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวงจรชีวิตนกอีแอ่นสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาเยี่ยมชม โดยมีการนำรังนกบ้านมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางและสบู่ด้วย จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ด้านนายอำนาจ ชาญกสิกรณ์ ผู้จัดการ บริษัท ซีโกลด์ เบิร์ดเนสท์ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจัดเก็บรังนกถ้ำบนเกาะ 5 เกาะของ จ.ชุมพร ได้แก่ เกาะยุ้ง เกาะมัดหวาย อ.สวี และเกาะคางเสือ เกาะหลังห้า เกาะมะพร้าว อ.ทุ่งตะโก เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ประเทศจีนดำเนินนโยบายกีดกันรังนกจากประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน เนื่องจากตรวจพบว่ารังนกจากมาเลเซียมีการย้อมสีแดง เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าให้รังนกมีราคาสูงขึ้น ทำให้รังนกจากไทยที่เคยเป็นคู่ค้าสำคัญกับจีนได้รับผลกระทบ ไม่สามารถส่งเข้าไปขายในจีนได้เหมือนก่อนหน้าปี 2557

ทั้งนี้ปกติแล้วบริษัทจะมีการเก็บรังนกถ้ำปีละ 3 ครั้ง ได้ผลผลิตรังนกปีละประมาณ 450 กิโลกรัม แบ่งเป็นรังนกเกรด 1 ราคา 90,000 บาท/กก. เกรด 2 ราคา 70,000 บาท/กก. และเกรด 3 ราคา 45,000 บาท /กก. ซึ่งลูกค้ารายใหญ่คือ ประเทศจีน โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับรังนกจากบริษัทไปส่งเข้าจีนอีกต่อหนึ่ง บริษัทไม่ได้ซื้อขายโดยตรงกับจีน แต่หลังจากจีนกีดกันรังนกจากอาเซียน บริษัทสามารถส่งรังนกไปได้แค่มาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ และทำให้ราคารังนกตกลงมา โดยเกรด 1 เหลือกิโลกรัมละ 70,000 บาท เกรด 2 ราคา 55,000 บาท/กก. และเกรด 3 ราคา 30,000 บาท/กก.เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังทำให้มีรังนกถ้ำตกค้างอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์อีกประมาณ 1,200 กิโลกรัม มีอายุนานถึง 10 ปี เพราะเก็บรักษาอยู่ในห้องเย็น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเดือนละ 100,000 บาท เป็นค่าไฟฟ้าราว 50,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าแรงพนักงานรักษาความปลอดภัย

“จีนกำหนดมาตรฐานออกมาว่า จะต้องทำความสะอาดรังนกบนเกาะก่อนส่งกลับเข้ามาบนฝั่ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรังนกถ้ำไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องทำในโรงงานที่นำรังนกมาแปรรูปเท่านั้น หากจะให้เจ้าหน้าที่สวมเสื้อกาวน์นำเครื่องมือไปทำความสะอาดรังนกหน้าถ้ำ คงไม่มีผู้ประกอบการคนใดทำได้หรอก ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะเจรจากับรัฐบาลจีนในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G TO G) ขอให้ผ่อนปรนในเรื่องนี้บ้าง เพราะขณะนี้บริษัทค้างการจัดส่งอากรรังนกให้จังหวัดอยู่ประมาณ 500-600 ล้านบาทแล้ว เนื่องจากไม่สามารถส่งรังนกไปจีนได้เหมือนเดิม”

นายอำนาจกล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้จัดเก็บอากรรังนกบ้านเหมือนกับรังนกถ้ำว่าไม่เห็นด้วยเพราะราคารังนกถ้ำกับราคารังนกบ้านแตกต่างกันมาก ควรให้ผู้ประกอบการรังนกบ้านเสียภาษีเงินได้เข้ารัฐ และควบคุมไม่ให้เปิดเสียงนกรบกวนชาวบ้านก็น่าจะเพียงพอแล้ว

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์