ลอยตัว’น้ำตาล’เลิกระบบโควต้า ผู้บริโภคไม่กระทบ

ช่วงหลายปีมานี้ ในแวดวงของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทั้งหน่วยงานกำกับ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ผลิต คือ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทรายมีการหยิบยกประเด็นการลอยตัวน้ำตาลทราย ภายใต้ภาพใหญ่คือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมาหารือ ที่จำเป็นต้องปรับแก้เพราะ พ.ร.บ.

อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ขณะที่โลกการค้าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการค้าโลกที่ดุเดือด มีการช่วงชิงจังหวะแบบหมัดต่อหมัด

เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ถูกประทับตราว่าเป็นสินค้าการเมืองสำคัญชนิดหนึ่ง มีผลประโยชน์ มีการกำหนดสัดส่วนรายได้จากผลผลิตอ้อย กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำตาล ไปจนถึงการนำผลผลิตพลอยได้อย่างกากน้ำตาล (โมลาส) ชานอ้อย ฯลฯ มาสร้างมูลค่า เมื่อมีการหยิบยกประเด็นปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขึ้นมาทีไร จึงมักถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวไร่ ที่เป็นผู้ผลิตต้นทาง ซึ่งกังวลว่าสัดส่วนแบ่งปันของอุตสาหกรรมที่กำหนดให้ชาวไร่ได้ 70% และโรงงานได้ 30% จะเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวไร่ได้รับรายได้ลดลง

แต่ล่าสุด มีแรงกดดันสำคัญที่ทำให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องเดินได้จริงจัง มาจากการที่ประเทศบราซิลยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จนกระทบต่อตลาดโลกในช่วงปี 2558 โดยประเด็นที่บราซิลจี้ไทย มีทั้งการกำหนดราคาขายปลีก การกำหนดโควต้าเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือโควต้า ก. น้ำตาลที่ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) หรือโควต้า ข. และน้ำตาลเพื่อส่งออก รวมทั้งประเด็นการเพิ่มเงินชาวไร่อ้อยในกรณีที่ชาวไร่ได้รับเงินขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง

จนปี 2559 ประเด็นฟ้องร้องเริ่มขยายผล จนรัฐบาลไทยเริ่มกังวลต่อผลกระทบต่อประเทศไทย หากบราซิลชนะคดี เพราะหนึ่งในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ ประเทศไทยอาจต้องเสียเงินค่าปรับจำนวนมหาศาล นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่นต่อประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกรอบสำคัญ คือ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกปรับโครงสร้างประเด็นสำคัญอย่างราคาน้ำตาลและโควต้าน้ำตาลทรายก่อน มีผลบังคับใช้ปลายปี 2560 เพื่อใช้กับฤดูกาลผลิต 2560/2561 โดยแนวทางนี้จะเป็นข้อมูลชี้แจงต่อดับเบิลยูทีโอต่อไป

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า เดือนตุลาคมปีนี้จะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ โดยเปลี่ยนมาอิงราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลผลิตสินค้า เพราะจะมีการดูแลให้น้ำตาลทรายเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ และมีมาตรการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ด้วย

โดยประเด็นนี้การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศเดือนตุลาคม 2560 จะเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยจะมีการตั้งกองทุนดูแลช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สำหรับที่มาของเงินนั้นจะจัดเก็บช่วงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกสูง

ภายหลังประเด็นลอยตัวราคาน้ำตาลทรายถูกนำเสนอ กระทรวงพาณิชย์ โดย สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ข้อมูลถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามกำหนดตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

“ราคาขายปลีกน้ำตาลทราย กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบันนั้น จะแบ่งนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาท/ตันอ้อย ดังนั้น เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วก็จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป”

อย่างไรก็ตาม เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว กระทรวงพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางพิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขายและราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันและมีการใช้ในปริมาณมาก ทั้งในประเทศและเพื่อส่งออก แต่หากลอยตัวราคาแล้วผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก กรมจะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ รองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในเดือนตุลาคมนี้และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้จริงในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 โดยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อดับเบิลยูทีโอ กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง

สำหรับหลักการนำไปสู่การลอยตัวจะต้องยกเลิกระบบโควต้าน้ำตาลทรายซึ่งเดิมกำหนดเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) น้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน (โควต้า ข.) น้ำตาลทรายส่งออกส่วนที่เหลือจากโควต้า ก. และ ข. (โควต้า ค.) โดยแนวทางใหม่จะป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศด้วยการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวรองรับล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นำน้ำตาลทรายไปส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากขายออกไปจนทำให้ขาดแคลนจะมีโทษ

สอน.ยังเชื่อว่าระบบโควต้าดังกล่าวจะไม่ทำให้น้ำตาลทรายขาดแคลน เพราะปัญหาที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายไม่สอดรับกับตลาดโลก เมื่อราคาน้ำตาลต่างประเทศสูงกว่าก็จะทำให้เกิดการไหลออก และหากราคาในประเทศสูงกว่าจะทำให้น้ำตาลไหลเข้า เมื่อราคาในประเทศใกล้เคียงตลาดโลกจะสร้างความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ การลอยตัวจะนำไปสู่ระบบการซื้อขายที่เสรี กลไกการค้าเสรีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีโอกาสสอบถาม สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะไม่มีการยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 แต่จะเลิกระบบโควต้า เพื่อให้การจัดสรรน้ำตาลมีแค่ใช้ในประเทศ แต่ต้องเพียงพอ และการจัดสรรเพื่อส่งออก แต่สัดส่วนนี้ก็สามารถนำมาขายในประเทศได้ตลอดเวลา ไม่มีความผิด

“ประเด็นราคาน้ำตาลทรายที่บางฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบนั้น กระทรวงยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบแน่นอนหากราคาตลาดโลกปรับขึ้น ขณะเดียวกันก็จะดูแลชาวไร่ไม่ให้ได้รับผลกระทบหากราคาตลาดโลกปรับลดลง”

เมื่อประเด็นการค้ากดดันให้ไทยต้องปรับตัว คงต้องฝากความหวังไว้กับภาครัฐว่าจะดูแลประชาชนให้ได้ใช้น้ำตาลราคาเหมาะสม ราคาไม่แพงจนเกินไป ในฐานะประเทศผู้ผลิตหลักจนสามารถส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

ที่มา มติชนออนไลน์