กรมวิชาการเกษตรงัดกฎเข้มคุมล้งส่งออกทุเรียนหวั่นตลาดพัง

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการปกป้องตลาดทุเรียนไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรร่วมกับจ.จันทบุรี ประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ทั้งเปลือกในภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี ระยอง และตราด เกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) หรือล้ง

ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีความเข้าใจในกฏระเบียบด้านต่างๆ ทั้งของไทยและประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกประมาณ 135 แห่ง ในภาคตะวันออกและภาคใต้ แบ่งเป็นโรงคัดบรรจุที่เป็นดาวเด่นประมาณ 50-60 แห่งในช่วงฤดูการผลิต และคาดว่าปีนี้จะมีผู้ที่เข้ามายื่นขอรับรองโรงคัดบรรจุรายใหม่อีกประมาณ 30 ราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ในการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต และการรับรองมาตรฐานโรงคัดบรรจุ ทุเรียนส่งออก ควบคุมให้สินค้าทุเรียนที่ส่งออกมีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการเห็นว่าสินค้าที่ผลิตภายใต้โรงคัดบรรจุของตัวเองต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นายอุทัย กล่าวด้วยว่า ต่อไปผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ จะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัดจึงจะสามารถดำเนินการส่งออกทุเรียนได้ โดยจะต้องควบคุมการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามตามข้อกำหนด กฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัดแมลงและสารกันเชื้อราไม่เกินค่าที่กำหนด และห้ามใช้สีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ) กับผักผลไม้สด

ซึ่งประเทศผู้นำเข้า เช่น ฮ่องกงมีกฎระเบียบห้ามใช้ขมิ้น (Turmeric/Curcumin) ในผลไม้สด (ตามกฎระเบียบ Coloring Matter in Food Regulation (Cap 132H)) สาธารณรัฐประชาชนจีน (GB 2763-2014) และมาตรฐาน Codex (Codex STAN 192-1995) ไม่มีบทบัญญัติการอนุญาตใช้ขมิ้น และห้ามใช้สีผสมอาหารในผักผลไม้สด และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๙ เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ ๔) ห้ามใช้สีผสมอาหารในผักผลไม้สดเช่นกัน การใช้ขมิ้นชุบผลทุเรียน หากปฏิบัติไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานประเทศผู้นำเข้าก็ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับแจ้งจากกงสุลฝ่ายเกษตรว่า ผู้บริโภคชาวจีนร้องเรียนซื้อทุเรียนนำเข้าจากไทยจากร้านค้า เมื่อนำมาปอกเปลือกพบว่าที่ผิวเปลือกทุเรียนมีสารสีเหลืองเคลือบ ซึมไปถึงเปลือกขาวชั้นในและเนื้อทุเรียนบางส่วน และมีสีเหลืองเปื้อนติดมือเมื่อนำไปผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นสาร Curcumin (ขมิ้น) และ Auramine O (สีย้อมในอุตสาหกรรมผ้าและพลาสติกซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยในอนาคตได้ จำเป็นที่กรมฯจะต้องหามาตรการเข้มงวดในการป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

“อยากขอความร่วมมือให้ล้งทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยส่งทุเรียนออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง แต่ตลาดใหญ่ คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณการส่งออกทุเรียน ปี 2559 สูงถึง 402,600 ตัน มูลค่า 17,469 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) ซึ่งในปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30-40 “นายอุทัย กล่าว