โครงการท็อปส์ เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ ปี 2 ผลักดันสินค้า GI สร้างมูลค่าเพิ่ม

จัดต่อเนื่องขึ้นเป็นปีที่ 2 สำหรับโครงการ “ท็อปส์ เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” โครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นโดย บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย โดยระดมสินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป และเอสเอ็มอี ทั้งผักและผลไม้ อาหาร สินค้าแปรรูป เครื่องสำอาง ส่งตรงถึงผู้บริโภคในราคายุติธรรม

และนอกจากสรรหาสินค้า วัตถุดิบที่มีคุณภาพจากแหล่งผลิตต้นทางเพื่อนำมาจำหน่ายใน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ซูเปอร์คุ้ม, ท็อปส์ เดลี่ ทาง “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” ยังเป็นองค์กรที่ให้ความรู้กับคนในชุมชน ตั้งแต่การคัดเลือกสินค้า การคัดเลือกพันธุ์ แนะนำว่าตลาดต้องการอะไร ควรปลูกอะไร สอนเรื่องการคำนวณต้นทุน กำไร ค่าใช้จ่าย

คุณเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และบริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ซูเปอร์คุ้ม, ท็อปส์ เดลี่ และ อีทไทย เปิดเผยว่า กว่า 20 ปีที่บริษัทดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการรับผิดชอบสังคม ใน 3 แกนหลัก ได้แก่

  1. ด้านสังคม ผ่านโครงการสินค้าชุมชนของเรา อาทิ โครงการ คำว่าให้ไม่สิ้นสุด เพื่อสมทบทุนสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โครงการ ท็อปส์ส่งต่อความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มอบเสื้อเกราะกันกระสุนให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ Tops Loves The Earth
  3. ด้านการศึกษา ผ่านโครงการรถห้องสมุดเคลื่อนที่ (Unicef Mobile Library)

“ในปี 2552 บริษัทได้เริ่มเข้าไปรับซื้อสินค้าตรงจากสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนในต่างจังหวัด ทำให้มองเห็นปัญหาหลักของเกษตรกรว่ายังขาดองค์ความรู้ ในด้านการผลิตสินค้า เช่น การเลือกพันธุ์ผักที่ตลาดต้องการ วางแผนการปลูก การคัดเกรดผลไม้ การตัดแต่งผักและผลไม้เพื่อขนส่งและวางจำหน่าย การกระจายสินค้า การแปรรูปสินค้า การออกแบบตราสินค้า รวมถึงปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทกำหนดให้ภารกิจช่วยเหลือเกษตรกร เป็นนโยบายหลักในการทำงานของท็อปส์ จนถึงปี 2559 ได้นำมาต่อยอดสู่โครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ซึ่งจัดเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มร่วมกันระหว่างธุรกิจและชุมชน”

หลังจากบริษัทเปิดตัวโครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนไปรวม 517 ราย แบ่งออกเป็น 89 ชุมชน 261 โอท็อป และ 167 เอสเอ็มอี ช่วยให้เกษตรกรและชุมชน มีโอกาสนำสินค้ามาจำหน่ายที่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ ทุกสาขา ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน ทำให้เกษตรกรและชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

และในปี 2560 ปีนี้ท็อปส์ยังเตรียมขยายความช่วยเหลือชุมชนเพิ่มเติม 645 ราย แบ่งเป็น 135 ชุมชน 320 โอท็อป และ 190 เอสเอ็มอี และร่วมพัฒนาโมเดล 8 ชุมชนต้นแบบ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ เชียงราย ลำพูน ระยอง อ่างทอง แพร่ เลย และพัทลุง

โดยกลยุทธ์ที่บริษัทจะนำมาใช้ในปีนี้คือ ผลักดันให้เกษตรกรและชุมชนผู้ผลิตสามารถขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ได้สำเร็จ และนำสินค้า GI มาวางจำหน่ายในสาขา พร้อมประชาสัมพันธ์ ณ จุดขายและสื่อออนไลน์ ให้ผู้บริโภครู้จักอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน ตราสัญลักษณ์ GI ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ประกาศผลักดันขึ้นทะเบียนสินค้า GI ให้ได้ครบทั้ง 77 จังหวัดในปีนี้

“การขึ้นทะเบียนสินค้า GI สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้สินค้า เป็นสินค้าที่ปลูกหรือผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศให้การยอมรับ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้แบรนด์ มีจุดแข็งจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง เพิ่มโอกาสในการส่งออก ตราสัญลักษณ์ GI สามารถการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือให้สินค้า สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะได้สินค้าจากถิ่นกำเนิด (Authentic) มีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานมี   การตรวจสอบทุกปี ตัวสินค้าเองมีการตรวจสอบย้อนกลับได้”

ปัจจุบัน มีสินค้า GI ที่จดทะเบียนกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 75 ราย แบ่งออกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 58 รายการ สินค้าหัตถกรรม จำนวน 17 รายการ โดยบริษัทได้จำหน่ายสินค้า GI ในกลุ่ม สินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 29 รายการ เป็นสินค้าที่จดทะเบียนแล้ว 18 ราย และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 ราย โดยสินค้าที่วางจำหน่ายจะหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด

และเพื่อโปรโมตสินค้าให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น บริษัทจึงได้สร้าง “GI Corner” มุมจำหน่ายสินค้า GI เช่น ส้มโอทับทิมสยาม ปากพนัง สับปะรดศรีราชา ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวแต๋นลำปาง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ น้ำหมากเม่าสกลนคร ฯลฯ