ติดสติ๊กเกอร์ GI ทุเรียนนนท์บูม ปลูกบ้านละต้น ตำบลละร้อย!

เมืองนนท์เร่งเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียน ผุดโครงการส่งเสริมพืชอัตลักษณ์นนทบุรี บ้านละต้น ตำบลละร้อยขึ้น หลังเกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำเค็ม ด้านการประปานครหลวงร่วมช่วยเหลือ คิดอัตราค่าน้ำพิเศษในอัตราคงที่ให้เกษตรกร ชี้ปี′60 มีผลผลิตเพียง 300-500 ลูก ราคาสูงถึง 15,000-25,000 บาท/ลูก

นายสมนึก ศรีเที่ยงตรง เกษตรจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนนนท์เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ต้องการอย่างมาก และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนใหญ่คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 2,600 ไร่ มีเกษตรกรราว 1,500 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกครอบคลุมทุกอำเภอ แต่ปลูกมากที่อำเภอเมือง บางกรวย ปากเกร็ด บางบัวทอง และบางใหญ่ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท/ลูก ขนาดลูกละ 2-3 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตจะออกช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยพันธุ์ที่ได้รับนิยมคือ พันธุ์ก้านยาว

โดยปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีทุเรียนนนท์ออกสู่ตลาดประมาณ 300-500 ลูก เนื่องจากเมื่อปี 2554 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุเรียนได้รับความเสียหายจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการปลูกทุเรียนทดแทน แต่จะต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกจนกว่าจะออกผลประมาณ 7 ปี ซึ่งคาดว่าปี 2561 ปริมาณผลผลิตทุเรียนนนท์จะเพิ่มขึ้น

อีกทั้งจังหวัดได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนปลูกทุเรียนนนท์อย่างน้อย 1 ต้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ทุเรียนนนท์ยังคงอยู่ จึงคาดว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนนนท์จะเพิ่มขึ้นทุกปี และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาต้นพันธุ์ทุเรียนนนท์ของแท้ได้จากชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ และศูนย์ สปก.ของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมี 2 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางกรวย รวมถึงสามารถซื้อพันธุ์ทุเรียนนนท์ของแท้ได้จากสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญสำหรับเกษตรกรในการทำสวนทุเรียน คือ ปัญหาน้ำเค็มที่ประสบทุกปี ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น เนื่องจากจะต้องนำน้ำประปามาใช้แทน ดังนั้นเกษตรกรและภาครัฐจึงมีการเตรียมตัวและวิธีแก้ปัญหา โดยจังหวัดมีเครื่องมือการตรวจวัดน้ำเค็มฟรี รวมถึงมีหอกระจายข่าวสารให้เกษตรกรและประชาชนทราบ ซึ่งเมื่อน้ำเค็มขึ้นเกษตรกรจะไม่ใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง รวมถึงปีนี้ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือจากการประปานครหลวง โดยขนน้ำให้เกษตรกรได้ใช้เพื่อทำการเกษตรฟรี 8 จุด และคิดอัตราค่าน้ำพิเศษในอัตราคงที่ 10.50 บาท/ลบ.ม. เมื่อเกษตรกรใช้น้ำประปาเกิน 51 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขึ้นไป

ส่วนปัญหาราคาที่ดินสูงขึ้น มีการซื้อขายในราคาแพง เพื่อนำไปทำบ้านจัดสรรและโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรบางรายตัดสินใจละทิ้งสวนทุเรียนไปนั้น ทางจังหวัดจึงมีโครงการส่งเสริมพืชอัตลักษณ์นนทบุรี บ้านละต้น ตำบลละร้อยขึ้น โดยส่งเสริมให้บ้านเรือนที่มีที่ว่างปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกทุเรียนนท์ให้มากขึ้น โดยการจัดงานทุเรียนไทย ซึ่งภายในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายทุเรียนนนท์ ผลไม้อื่น ๆ แล้ว ยังมีการจัดประมูลทุเรียนนนท์พันธุ์แท้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าราคาจะสูง และสามารถจูงใจเกษตรกรได้ ทั้งนี้รายได้จะมอบให้กับกาชาดจังหวัดนนทบุรี และช่วยเหลือด้านด้อยโอกาสต่าง ๆ โดยในปี 2560 นี้ งานทุเรียนนนท์จะจัดขึ้นในวันที่ 8-12 มิถุนายน 2560 ที่เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี


เพิ่มผลผลิต – จังหวัดนนทบุรีดำเนินโครงการส่งเสริมพีชอัตลักษณ์นนทบุรี บ้านละต้น ตำบลละร้อย เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนนนท์ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 300-500 ลูกต่อปีเท่านั้น

ด้านนางไสว ทัศนียเวช เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนนนท์ ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี กล่าวว่า ปีนี้ประสบทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็ม แต่จากประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถรับมือได้ทัน และโชคดีที่การประปานครหลวงช่วยเหลือ ลดค่าน้ำประปาให้เป็นอัตราพิเศษ ทั้งนี้มองว่าผลผลิตจะลดลง ขณะนี้ต้นทุเรียนมีดอกแล้ว แต่ยังไม่ติด ขณะเดียวกันมีลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาสั่งจองแล้ว โดยปกติจะจำหน่ายในราคาลูกละ 10,000 บาท แต่ยังไม่กล้ารับออร์เดอร์ เพราะว่ามีทุเรียนยังไม่ติดผล ทั้งนี้คาดว่าแต่ละสวนจะมีผลผลิตเพียง 4-5 ลูกต่อสวนเท่านั้น

“ที่ผ่านมาพบปัญหาพ่อค้าแม่ค้านำทุเรียนจากที่อื่นมาสวมสิทธิ์ว่าเป็นทุเรียนนนท์ และจำหน่ายในราคาแพง บางคนมีการอ้างชื่อเกษตรกรตัวจริง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมาก รวมถึงที่ดินมีราคาแพงขึ้นจากการขยายตัวของเมืองจากกรุงเทพฯ โดยราคาที่ดินอยู่ที่ 5-7 ล้านบาท/ไร่ หากเป็นที่ดินติดปากทาง ราคาสูงถึง 30 ล้านบาท/ไร่ ทำให้เกษตรกรหลายคนเลิกอาชีพเกษตรกรปลูกทุเรียนไป” นางไสวกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสวมสิทธิ์ทุเรียนนนท์ ในปีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีจะมอบสติ๊กเกอร์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical Indication (GI) ทุเรียนนนท์ ให้กับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนนนท์พันธุ์แท้ตามจำนวนจริงที่ผลผผลิตจะออกสู่ตลาด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่มาซื้อว่าเป็นของแท้ และเพื่อแก้ปัญหาพ่อค้าแม่ค้านำทุเรียนที่อื่นมาสวมสิทธิ์และจำหน่ายในราคาแพง สร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ผิดพลาดให้กับผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาพบมีการนำมาหลอกจำหน่ายในราคาประมาณ 5,000-6,000 บาท/ลูก