“สมคิด”ปิดบิ๊กดีลแสนล.รถไฟฟ้าเหลือง-ชมพู จับตา”บอมบาดิเอร์-ฉงชิ่ง”แข่งปาดเค้กระบบซูเปอร์โมโนเรล

ดีเดย์ 18 พ.ค. รองนายกฯสมคิด ประธานเซ็นปิดบิ๊กดีลบีทีเอส สร้าง 2 รถไฟฟ้า “ชมพู-เหลือง” มูลค่า 1 แสนล้าน รฟม.เร่งคุย “กทม.-ทางหลวง” ส่งมอบพื้นที่ คาดลงเสาเข็มปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี”61 เปิดหวูดปี”63 เผยใช้ระบบซูเปอร์โมโนเรล จับตา “บอมบาดิเอร์-ฉงชิ่ง” ชิงดำเค้ก

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 18 พ.ค. 2560 รฟม.จะเซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ. ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ ผู้ชนะประมูลลงทุน 105,450 ล้านบาทสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี 34.5 กม.วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน

ทั้ง 2 โครงการ เป็นการให้เอกชนลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน รัฐจะเป็นผู้เวนคืนที่ดินและสนับสนุนค่างานโยธาให้ของสายสีชมพูไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และสีเหลืองไม่เกิน 22,354 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนเอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาระบบและขบวนรถ รวมทั้งให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงระบบ พร้อมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานี 53 สถานี โดย รฟม.จะได้ส่วนแบ่งรายได้ตลอดสัญญา 250 ล้านบาทต่อเส้นทาง

แบ่งงาน 2 ระยะ

“จะแบ่งการดำเนินงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งระบบและขบวนรถ 3 ปี 3 เดือน ระยะที่ 2 ให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา พร้อมกับพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานี 30 ปี ขั้นตอนหลังเซ็นสัญญากับเอกชน จะเร่งให้เอกชนเริ่มออกแบบรายละเอียดและเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ”

ส่วนการเข้าพื้นที่ก่อสร้างอยู่ที่เอกชน ซึ่ง รฟม.ได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกรมทางหลวง (ทล.) ขอใช้พื้นที่เกาะกลางถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทราและมีนบุรี ในหลักการทั้ง 2 หน่วยงานพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ขอดูแบบก่อสร้างสุดท้าย ถึงจะให้เข้าพื้นที่ได้ ซึ่งโครงการจะเป็นรูปแบบดีไซน์แอนด์บิวด์หรือออกแบบไปก่อสร้างไป คาดว่าปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้าจะเริ่มงานได้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการเดือน ส.ค. 2563

ต่อขยายเมืองทอง-รัชดารอ EIA

ส่วนการพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมซองที่ 3 จะพิจารณาภายหลัง รอบีทีเอสทำรายละเอียดโครงการ เนื่องจากเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายใหม่ที่ไม่อยู่ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยบีทีเอสยืนยันจะสร้างสร้างส่วนต่อขยายภายในระยะเวลากำหนด 3 ปี 3 เดือน จะมีคณะกรรมการมาตรา 43 เป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งโครงการ

ซึ่งบีทีเอสเสนอแผนลงทุนจะขยายเส้นทางสายสีชมพูออกไปอีก 2.8 กม.จากทางด่วนศรีรัชเข้าไปในเมืองทองธานี มี 2 สถานี ซึ่งสถานีแรกอยู่บริเวณอาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์และสถานีที่2 อยู่ริมทะเลสาบ และสายสีเหลืองจะสร้างเพิ่ม 2.6 กม.จากแยกรัชดา-ลาดพร้าวไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกเชื่อมกับสายสีเขียว(หมอชิต-คูคต) ที่แยกรัชโยธิน มี 2 สถานี ซึ่งสถานีแรกอยู่หน้าจันทรเกษมและสถานีพหลโยธิน 24

เปิดโผ 53 สถานี

สำหรับสายสีชมพู มี 30 สถานี ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี 2.สถานีแคราย 3.สถานีสนามบินน้ำ 4.สถานีสามัคคี 5.สถานีกรมชลประทาน 6.สถานีปากเกร็ด 7.สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด 8.สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 9.สถานีเมืองทองธานี 10.สถานีศรีรัช 11.สถานีเมืองทอง 1 12.สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 13.สถานีทีโอที 14.สถานีหลักสี่ 15.สถานีราชภัฏพระนคร 16.สถานีวงเวียนหลักสี่ 17.สถานีรามอินทรา 18.สถานีลาดปลาเค้า 19.สถานีรามอินทรา 31 20.สถานีมัยลาภ 21.สถานีวัชรพล 22.สถานีรามอินทรา 40 23.สถานีคู้บอน 24.สถานีรามอินทรา 83 25.สถานีวงแหวนตะวันออก 26.สถานีนพรัตนราชธานี 27.สถานีบางชัน 28.สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ 29.สถานีตลาดมีนบุรี และ 30.สถานีมีนบุรี มีจุดจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุงบนพื้นที่ 280 ไร่

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มี 23 สถานี ได้แก่ 1.สถานีรัชดา 2. สถานีภาวนา 3.สถานีโชคชัย 4 4.สถานีลาดพร้าว 71 5.สถานีลาดพร้าว 83 6.สถานีมหาดไทย 7. สถานีลาดพร้าว 101 8.สถานีบางกะปิ 9.สถานีลำสาลี 10.สถานีศรีกรีฑา 11.สถานีพัฒนาการ 12.สถานีกลันตัน 13.สถานีศรีนุช 14.สถานีศรีนครินทร์ 38 15.สถานีสวนหลวง ร.9 16.สถานีศรีอุดม 17.สถานีศรีเอี่ยม 18.สถานีศรีลาซาล 19.สถานีศรีแบริ่ง 20.สถานีศรีด่าน 21.สถานีศรีเทพา 22.สถานีทิพวัล และ 23.สถานีสำโรง

จีน-แคนาดาชิงระบบรถ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเซ็นสัญญาทางบีทีเอสได้เชิญซัพพลายเออร์รถไฟฟ้า 2 โครงการเข้าร่วมงานด้วย โดยระบบรถที่ใช้เป็นซูเปอร์โมโนเรล อยู่ระหว่างเลือกกระบบของบอมบาดิเอร์จากแคนาดาและฉงชิ่งจากจีน ส่วนระบบขายตั๋วคาดว่าจะใช้ระบบจากสเปน

ที่มา  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์