ถอดบทเรียน ผู้นำตลาดส่งมะม่วงขายทั่วโลก มีเครือข่ายชาวสวนอยู่ทั่วประเทศ

“ มะม่วง ” เป็นไม้ผลที่มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ ปี 2559 มีพื้นที่ปลูกมะม่วงที่ให้ผลผลิตแล้ว  2,145,211 ล้านไร่  จำนวนผลผลิต  3,243,559  ตัน กรมส่งเสริมการเกษตรได้สรุปมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ ปี 2558 มะม่วงน้ำดอกไม้ มูลค่าประมาณ  59,556 ล้านบาท มะม่วงเขียวเสวยประมาณ 88,300 ล้านบาท และกลุ่มมะม่วงคละชนิดอีกประมาณ 70,515 ล้านบาท  (ที่มา :ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2559)

จึงกล่าวได้ว่า มะม่วง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอย่างมหาศาล และมีอัตราการเติบโตถึงปีละ 10-15%  หากอยากรู้ว่า ตลาดส่งออกมะม่วงของไทยในอนาคตจะดำเนินไปในทิศทางใดนั้น  ต้องฟังคำตอบจากบทสัมภาษณ์  “คุณวุฒิชัย ดอนทองแอ ” ประธานคณะบริหารการจัดซื้อฝ่ายเกษตร บริษัท สวิฟท์ จํากัด  ดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นกิจการ

บริษัท สวิฟท์ จำกัด เป็นกิจการคนไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านส่งออกพืชผัก และผลไม้สด ระยะแรกบริหารงานในลักษณะซื้อมาขายไป แต่ควบคุมคุณภาพผลผลิตไม่ได้ จึงเปลี่ยนนโยบายหันมาสร้างเกษตรกรเครือข่ายโดยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ( Contract farming ) โดยให้การช่วยเหลือด้านเงินทุน องค์ความรู้แก่เกษตรกร จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำขั้นตอนการผลิตให้ได้มาตรฐานตาม GAP  และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

คุณวุฒิชัย ทองดอนแอ

ปี 2535 สวิฟท์ได้ร่วมลงทุนกับ Exotic Farm Produce (United Kingdom) ในชื่อ บริษัท Exotic Farm Produce (Thailand) จำกัด  มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันสวิฟท์มีโรงงานคัดบรรจุในจังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ บริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน HACCP และ Eurep GAP สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน  มังคุด  มะม่วง ทุเรียน ฯลฯ  โดยมุ่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เพราะข้อดีของมะม่วงก็คือ เป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ปัจจุบันสวิฟท์มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในภูมิภาคยุโรป และ ญี่ปุ่น  รองลงมาคือ ตลาดเอเซีย อาฟริกา  ออสเตรเลีย

นอกจากส่งออกมะม่วงผลสดแล้ว บริษัทมีโรงงานสวิฟท์โฟรเซ่นที่จังหวัดเชียงใหม่ สวิฟท์นำมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ตกเกรดจำนวน 400 -500 ตันไปแปรรูปเป็นมะม่วงแช่เยือกแข็ง และรับซื้อมะม่วงมหาชนก เฉลี่ยปีละ 1,000 ตันส่งออกไปขายตลาดญี่ปุ่น สวิฟท์เชื่อว่า ในภาพรวมไทยจะสามารถส่งออกตลาดมะม่วงแช่เยือกแข็งไปขายทั่วโลกไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ตัน

ฐานการผลิตในปัจจุบัน

ปัจจุบันสวิฟท์มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ  ในแต่ละปี สวิฟท์จะเริ่มรับซื้อมะม่วงนอกฤดูในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาก่อนเป็นที่แรก โดยมีผลผลิตเข้าตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม  รุ่นถัดมา จะรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ( ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ) ตั้งแต่เดือนกันยายน -– ธันวาคม

ส่วนภาคตะวันออก ( สระแก้ว  ฉะเชิงเทรา ) จะมีผลผลิตทะยอยเข้าตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  –  เมษายน ส่วนพื้นที่ภาคกลางตอนบน  (พิจิตร  พิษณุโลก) จะมีผลผลิตมะม่วงเข้าตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม –  พฤษภาคม ด้านภาคเหนือ ( เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน) จะมีมะม่วงเข้าตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  – กรกฎาคม

ปัจจุบัน ภาคตะวันตก( กาญจนบุรี  ราชบุรี ) นับเป็นโซนใหม่ที่เกษตรกรหันมาสนใจปลูกมะม่วงเชิงการค้ามากขึ้นในระยะหลัง แต่สัดส่วนตัวเลขพื้นที่การปลูกมะม่วงยังไม่เยอะมากเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ   โซนนี้มีผลผลิตเข้าตลาดตั้งแต่เดือนธันวาคม – เดือนกุมภาพันธ์ ในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา พบว่า แหล่งปลูกมะม่วงในจังหวัดอุดรธานี  ชัยภูมิ  มีการขยายตัวเลขพื้นที่การปลูกเข้าสู่ระบบมาตรฐานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาด พร้อมกับจังหวัดพิจิตร และพิษณุโลก  ประมาณ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม

โอกาสมะม่วงไทยในเวทีตลาดโลก

ในเวทีการแข่งขัน มะม่วงไทยได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและราคา ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะขายไม่ได้  “   เกาหลี  ญี่ปุ่น  จีน  ” เป็นคู่ค้าหลักที่นำเข้ามะม่วงจากประเทศไทย และมีลู่ทางการส่งออกที่เติบโตสดใสมากที่สุดในขณะนี้  ไทยส่งออกมะม่วงคุณภาพเกรดเอ ไปตลาดเกาหลี ได้สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง  ตลาดอันดับสอง คือ  ญี่ปุ่น  ส่วน จีน  ต้องการมะม่วงคุณภาพเกรดบีลงมา  ด้านตลาดยุโรป สัดส่วนการส่งออกมะม่วงยังไม่เยอะมาก

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่รอการเก็บเกี่ยว

มะม่วงไทยมีจุดเด่นหลายด้านที่กินขาดคู่แข่งขัน ทั้งด้านรสชาติ “ หวาน หอม อร่อย ” และ จุดเด่นด้านคุณภาพ “ สด สะอาด ปลอดภัย “ รวมทั้งมีเทคนิคการดูแลจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม  ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของไทยสามารถยืดอายุการวางจำหน่ายได้ยาวนานกว่าเดิม ช่วยเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น คือ ประมาณ 14 วัน  ทำให้มะม่วงไทยเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในหลายประเทศ

รุกส่งออก โชคอนันต์ – เขียวเสวยไปญี่ปุ่น

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้ามะม่วงผลสดจากไทยจำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้ มหาชนก แรด พิมเสนแดง และหนังกลางวัน ซึ่งมะม่วงไทยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องของรสชาติและเนื้อสัมผัสที่หวานละมุน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ข่าวดีล่าสุดคือ ญี่ปุ่นพิจารณาอนุมัติให้มะม่วงไทยอีก 2 ชนิดคือ  มะม่วงโชคอนันต์ และมะม่วงเขียวเสวย

ปัจจุบันเกษตรกรไทยปลูกมะม่วงโชคอนันต์และมะม่วงเขียวเสวยมากพอสมควร  ประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตมะม่วงทั้งประเทศ ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยผลิตมะม่วงเขียวเสวยส่งไปขาย “ ตลาดเวียดนาม” อย่างต่อเนื่อง ส่วนมะม่วงโชคอนันต์มีผลผลิตเข้าตลาดทั้งปี จึงนิยมใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอาหารกระป๋องและโรงงานแปรรูป เพื่อผลิตมะม่วงเปรี้ยวส่งขายทั้งประเทศและต่างประเทศ

เมื่อญี่ปุ่นผ่อนผันให้นำเข้ามะม่วงอีก 2ชนิดจากประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกมะม่วงเพื่อป้อนตลาดส่งออก เนื่องจาก มะม่วงโชคอนันต์ และมะม่วงเขียวเสวยปลูกและดูแลได้ง่ายกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เพราะมะม่วงโชคอนันต์ สามารถติดดอกออกผลได้ตลอดทั้งปี  สวิฟท์มองเห็นโอกาสทางการตลาดส่งออกของมะม่วงทั้งสองชนิดจึงเร่งขยายกำลังการผลิตในกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดส่งออกในอนาคต

มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดพรีเมียร์ ที่ส่งออกไปตลาดยุโรป

ทุกวันนี้  ไทยประสบความสำเร็จในการดูแลรักษาคุณภาพมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผู้ส่งออกสามารถเก็บมะม่วงคุณภาพดีที่มีความสุกมากขึ้น ประมาณ 85 % ส่งไปขายในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยมีระยะเวลาการวางจำหน่ายนานถึง 14 วัน  สำหรับมะม่วงปากตะกร้อ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น เพราะเป็นมะม่วงที่แก่จัด มีรสหวานอร่อยเป็นพิเศษ

แปลงปลูกมะม่วงส่งออกที่จังหวัดเชียงใหม่

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะหลังพฤติกกรรมการบริโภคของลูกค้าต่างชาติเปลี่ยนแปลงไปหันมานิยมบริโภคอาหารไทยที่มีรสชาติเผ็ดจัดจ้านมากขึ้น  และต้องการบริโภค มะม่วงหลากหลายรสชาติ ทั้งมะม่วงเปรี้ยว  มะม่วงมัน มะม่วงสุก แต่เดิมตลาดญี่ปุ่น บริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เป็นหลัก แต่ระยะหลังเริ่มสนใจนำเข้ามะม่วงแรด ที่มีรสเปรี้ยว เพื่อนำไปแปรรูปในเมนูมะม่วงยำ เพื่อตอบสนองตามความต้องการของคนไทยที่พักอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ

สถานการณ์ตลาดส่งออกมะม่วงในปัจจุบน

ทิศทางการส่งออกมะม่วงของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ต่ำกว่าปีละ  10 %  ขณะเดียวกันตัวเลขพื้นที่ปลูกมะม่วงของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ต่ำกว่าปีละ  10-20 %    สมัยก่อนมีผู้ส่งออกมะม่วงแค่  4- 5 บริษัทในช่วง 5 ปีหลัง จำนวนผู้ส่งออกขยายตัวมากขึ้นถึง 38 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นโอกาสในการส่งออกมะม่วงไปยังประเทศเกาหลี จึงก้าวเข้ามาลงทุนแข่งขันการส่งออกมะม่วงไปตลาดเกาหลี ทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าและผลักดันมูลค่าการส่งออกมะมวงไปยังตลาดเกาหลีในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 20%

ปฎิทินการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงของกลุ่มชาวสวนทั่วประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ผลิตมะม่วงหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย  ฟิลลิปินส์ เวียดนาม ฯลฯ ต่างหันมาแข่งขันเจาะตลาดมะม่วงในประเทศเกาหลีเช่นเดียวกันไทย แต่สินค้าไทยมีจุดเปรียบกว่าในด้านคุณภาพ รสชาติ และมีผลผลิตป้อนตลาดทั้งปี  เป็นจุดขายที่ทำให้มะม่วงไทยสามารถเติบโตในตลาดเกาหลีได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านตลาดญี่ปุ่น  ภาวะการแข่งขันยังไม่สูงมากเท่าเกาหลีเพราะเอกชนไทยหลายรายยังผลิตไม่ได้มาตรฐานจีเอพี และไม่มีโรงงานอบไอน้ำเป็นของตัวเอง  มะม่วงที่ส่งออกไปจีน ไม่ต้องอบไอน้ำ  พ่อค้าจีนก็มาซื้อมะม่วงจากล้งทั่วไปเพื่อส่งออกเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะขาดการตรวจสอบสารตกค้าง เสี่ยงกับการสูญเสียตลาดเพราะควบคุมคุณภาพมะม่วงส่งออกไม่ได้

ส่วนตลาดใหม่ที่มีลู่ทางการเติบโตได้ดีในปัจจุบัน ได้แก่  ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ภูมิภาคยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์  อังกฤษ  ฯลฯ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีคนไทยและกลุ่มคนเอเชียพักอาศัยอยู่เยอะ ประกอบกับนโยบายการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย ทำให้ต่างชาติสนใจบริโภคอาหารและผลไม้ของไทยเพิ่มมากขึ้น

ภาพรวมผลผลิตมะม่วงในปี 2559   

ในปีนี้ เจอปัญหาโลกร้อน วิกฤตภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพมะม่วงไทยทั่วประเทศ ทำให้ต้นมะม่วงติดดอกออกผลน้อยลง กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% โดยเฉพาะแหล่งปลูกมะม่วงขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น สระแก้ว  ฉะเชิงเทรา พิจิตร  พิษณุโลก  ผลผลิตในช่วงฤดู ( มกราคม-มีนาคม )ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากฝนเทียม สวนมะม่วงบางแห่งวันหนึ่งเจอภาวะอากาศถึง 3 ฤดูในวันเดียวกัน  ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนมะม่วง

ปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้ส่งออกเพราะหาซื้อสินค้าป้อนตลาดได้ยากขึ้น เพราะมีผลผลิตเข้าตลาดไม่สม่ำเสมอ  นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าหลายแห่งเผชิญภาวะอากาศหนาวเย็นยาวนานกว่าทุกปี  เช่น  เกาหลี  อากาศหนาวเย็นติดลบกว่า 30 องศา ประชาชนไม่ค่อยออกจากบ้านมาจับจ่ายใช้สอยเหมือนในอดีต  ทำให้ช่วงที่ผ่านมา เกาหลีแทบไม่สั่งซื้อมะม่วงไทยเลย ผนวกกับปัญหาการชะลอทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เชื่อว่า ตัวเลขการส่งออกมะม่วงในปีนี้ อาจน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บริษัทสวิฟท์ เชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ  ทิศทางการส่งออกมะม่วงไทยจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สำหรับราคามะม่วงนอกฤดู(ก.ค.- ธ.ค.)ที่ผลิตป้อนตลาดส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขายได้ราคาสูงอยู่ที่ก.ก.ละ  120 บาทเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่วนมะม่วงในช่วงฤดู ราคาต่ำสุดที่ก.ก.ละ 55 บาท  ในระยะยาว  ผมมั่นใจว่า  มะม่วงจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงได้อย่างสบายๆ

 

ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ บริษัท สวิฟท์ จำกัด  ที่อยู่: 65/2 หมู่ 6 ถนนพลดำริห์  ตำบลดอนข่อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัด นครปฐม 73140 Email: [email protected]

โทรศัพท์: 034-384518 – 20  โทรสาร: 034-384-521