ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 29 เมษายน นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 04:00-06:00 น. ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดครั้งสุดท้ายในรอบปี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าจะมีความสว่างปรากฏถึงแมกนิจูด -4.6 (ระดับความส่องสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง แมกนิจูด -12.6) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
นายศรัณย์ กล่าวว่า ในวันที่ 12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด จึงมองเห็นดาวศุกร์สว่างในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏครึ่งดวง จนกระทั่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยว และในวันที่ 25 มีนาคม ดาวศุกร์จะอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เรียกว่า “ตำแหน่งร่วมทิศวงใน” หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฎเป็นเสี้ยวบางมากๆ ซึ่งหลังจากวันที่ 25 มีนาคม เราจะกลับมาสังเกตเห็นดาวศุกร์ในเวลารุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวหนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 30 เมษายน ดาวศุกร์จะปรากฎสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ดาวศุกร์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด
“การที่ดาวศุกร์มีความสว่างปรากฏมากที่สุดในรอบปี 2560 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ และ 30 เมษายน นั้นเนื่องจากดาวศุกร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะที่พอดี ประกอบกับมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างหนา ส่งผลให้มีความสว่างปรากฏค่อนข้างมาก หากเทียบกับช่วงที่ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ออกไปทางทิศตะวันออกและตะวันตกมากที่สุด ถึงแม้เสี้ยวจะหนาขึ้น แต่ขนาดปรากฏของดาวศุกร์จะลดลง เพราะอยู่ห่างจากโลกมาก และช่วงที่ดาวศุกร์โคจรผ่านตำแหน่งรวมทิศวงใน แม้ดาวศุกร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น แต่จะปรากฏเป็นเสี้ยวบาง ๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ดังนั้น ในวันดังกล่าวเมื่อเราสังเกตดาวศุกร์จากโลก จะมองเห็นดาวศุกร์มีความสว่างปรากฏมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น”นาย ศรัณย์ กล่าว
ทั้งนี้ ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก สามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ด้วยตาเปล่าได้ง่ายเพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก ดาวศุกร์นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าไม่นับรวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดได้ถึง 47.8 องศา จึงสามารถสังเกตดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกปรากฏทางทิศตะวันตก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นปรากฏทางด้านตะวันออก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” เป็นที่น่าสังเกตว่าดาวศุกร์จะไม่เคยปรากฏให้เห็นอยู่กลางท้องฟ้า หรือปรากฏในช่วงเวลาดึกเลย