12บริษัท เอ็มโอยูนำร่องจ้างงาน “สูงวัย” ปลัดแรงงานเผยเล็งยืดอายุเกษียณเป็น60ปี

เมื่อวันที่ 7 กันยายน กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สถานประกอบการ 12 แห่ง อาทิ บริษัท โฮมโปรดักส์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด บริษัท ไทย วี.พี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยรุ่งพาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด บริษัท สยามเด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ฯลฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย: การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่นๆ โดยมีองค์กรภาคีร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย เกิดขึ้นพร้อมกับแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคต การขยายอายุการจ้างงานจึงมีความสำคัญ เพราะแรงงานสูงวัยที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์ ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และว่าขณะนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน (กสร.) อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์กำหนดอายุการเกษียณ และแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อขยายอายุการจ้างงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และปรับแก้หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีกทั้งเงินบำนาญชราภาพ ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานให้ผู้สูงอายุขึ้นทะเบียนหางาน ทำให้มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่สถานประกอบการสามารถคัดเลือกคนเข้าทำงานได้ตรงความต้องการ

ด้าน นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การสร้างโอกาสและขยายการจ้างงานแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะผู้สูงวัยถือเป็นผู้มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของสถานประกอบการและช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญการจ้างงานเป็นการสร้างรายได้ให้กับแรงงานสูงวัย ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดภาระและการพึ่งพิงครอบครัวและสังคมได้

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการ มส.ผส.กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พบว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อกำลังการผลิตและกำลังแรงงาน ทำให้โครงสร้างกำลังแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาวลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางศรษฐกิจไทย (GDP) ชะลอตัวลงได้อย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี หากไม่มีการดำเนินการใดๆ