ชาวประมงกันตัง เดือดร้อนหนัก ทอดสมอเรือจอดตาย รายเล็กปิดแพ หลังมาตรการ จำกัด “ระยะทาง-เวลา-ลูกเรือ”

เมื่อเวลา 07.00น. วันที่ 29 เมษายน ที่บริเวณท่าเทียบเรือกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งจาก นายวิรัตน์ แจ้งอักษร อายุ 70 ปี อดีตไต๋เรือ อยู่บ้านเลขที่ 33 ถนนคลองภาษี อ.กันตัง จ.ตรัง ว่า ให้มาดูสถานการณ์ผู้ประกอบอาชีพทำการประมง ที่มีแพปลาทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จอดนิ่งตายเป็นส่วนใหญ่และไม่สามารถออกเรือไปหาปลาได้ หลังจากที่ทางรัฐบาลออกมาตรการล้อมกรอบวางข้อจำกัดตามนโยบายป้องกันการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดระยะเวลาออกเรือ ระยะทางที่ไกลออกไป รวมถึงการคุมเข้มลูกเรือที่จะออกไปกับเรือ

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ท่าเทียบเรือกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งอดีตเคยเป็นท่าเทียบเรือที่มีผู้ประกอบทำธุรกิจประมงกันอย่างคึกคัก มีแพปลาทั้งเล็กและใหญ่กว่า 10แห่ง และเรือประมงกว่า 500 ลำ แต่ขณะนี้ต้องจอดตาย เหลือเพียง 10 กว่าลำเท่านั้นที่ออกหาปลากันอยู่ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากที่รัฐบาลวางมาตรการล้อมกรอบให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามนโยบายป้องกันการค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวดและเคร่งครัด

“ไม่ว่าจะเป็นระยะทางกำหนดจากเดิม 3,500 เมตร ออกไปเป็น 4,500 เมตร ซึ่งเป็นทะเลน้ำลึกปริมาณสัตว์น้ำมีจำนวนลดลง หรือแม้กระทั้งเรื่องของเวลา จากเดิมที่ออกได้ทั้งปี แต่มากำหนดให้เหลือเพียง 205 วัน อีกทั้งยังมีการจัดระเบียบวางกฎเกณฑ์เข้มงวดกับบรรดาลูกเรือ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งในทางปฎิบัติ ทำให้ผู้ประกอบการประมงกันตัง ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก แพเล็กๆทนรับแบกภาระต้นทุนที่สูงไม่ได้ ต้องกู้เงินจากธนาคารจนกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน” นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดระยะเวลานั้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะสามารถหาปลาได้ตลอดทั้งปี แต่สภาพความเป็นจริง เรือประมงออกเรือได้เพียง 6 เดือน อีก 6 เดือนเป็นช่วงมรสุมก็ต้องจอดเรือ เมื่อมากำหนดให้ออกได้ปีละ 205 วัน ยิ่งมาซ้ำเติม ทำให้รอบปีหนึ่งทำได้เพียง 100 กว่าวันเท่านั้น ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ลูกเรือประมงที่ออกเรือจะต้องทำประวัติอย่างละเอียด พร้อมทั้งถ่ายรูปทุกคน หากลูกเรือป่วยต้องนำเข้าฝั่ง การจะหาลูกเรือมาทดแทนก็ไม่ได้ต้องเป็นคนเดิม เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา ทำให้ลูกเรือที่เป็นแรงงานต่างด้าว หนีไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียกันแล้ว ทำให้เกิดปัญหาแรงงานขึ้นอย่างมาก

นายวิรัตน์ กล่าวและว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะติดช่วงมรสุม ลูกเรือป่วย ลูกเรือไม่มาทำงาน หรือแม้กระทั้งการเปลี่ยนลูกเรือไม่ได้ เหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของแพปลาเป็นอย่างมาก จึงอยากวอนมายังรัฐบาลได้เข้ามาช่วยดูแลและแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการธุรกิจประมงด้วย ตนเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ไม่นานธุรกิจประมงจะล้มเทกระจาดเป็นโดมิโน่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นคิดกันดูเอาเอง