ความจริงใจของภาครัฐต่อกรณีแบนสารเคมีเกษตร

ไทยนำเข้าสารเคมีในปี 2559 ที่ผ่านมา 154,568 ตัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ย้ำว่าปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ภาคเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกถึงปีละ 1.22 ล้านล้านบาท  ในจำนวนนี้ มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์(ไม่ใช้สารเคมี)เพียง 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นทีทั้งหมดหรือ 148.7 ล้านไร่ที่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพราะ“ภาคการเกษตร” คืออู่ข้าวอู่น้ำ ปากท้องของชนชั้นการผลิตของประเทศไทย

แต่ทันทีที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงแถลงความคืบหน้าของการทำงานพร้อมระบุว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัวคือพาราควอต กับ คลอร์ไพริฟอส โดยให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562 จากวันนั้นสร้างความสับสนให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรว่า อำนาจในการสั่งแบนมิใช่อยู่ในบทบาทของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วล่ะหรือ

ที่สุดเวทีการประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสทก็เกิดขึ้นโดยเจ้าภาพส่งเทียบเชิญเป็นของกรมวิชาการเกษตร ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร  นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายเตือนภัยเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า จัดจำหน่าย มารับฟังแลกเปลี่ยนร่วมกันข้อมูลทางวิชาการถึงข้อกังวลด้านสุขภาพ โดยนายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นั่งหัวโต๊ะแจ้งให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมรับทราบว่าผลจากการประชุมครั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการควบคุมวัตถุอันตรายยังไม่ใช่ประชาพิจารณ์

บรรยากาศภายในล้วนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการอันเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่กรมกองต่างๆส่งตัวแทนเข้ามาให้ความรู้แบบสร้างสรรค์ ทั้งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมควบคุมมูลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น อาทิสมาพันธ์ชาวสวนยาง  สมาพันธ์ชาวนา,ชาวไร่อ้อย ,ชาวไร่มัน ,ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ,ชาวนาไทย รวมถึงเครือข่ายเตือนภัยสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช,มูลนิธิชีววิถี,มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสมาคมผู้ประกอบการสารเคมี เข้าร่วมกว่า 80 ชีวิต ข้อมูลยังคงวนเวียนเรื่องความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่คำถามคือความชัดเจนเรื่องการแบนหรือไม่สำหรับสารเคมีทั้งสองตัวจากแง่มุมของผู้ใช้

นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่นจังหวัดสุพรรณบุรี   ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้พร้อมคำถาม และคำชี้แจงในฐานะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรงว่า จากข่าวการแบนสารพาราควอตและคลอริไพริฟอสนั้นขณะนี้เกษตรกรมีความห่วงกังวลถึงการบริหารจัดการวัชพืชในไร่น่าของเกษตรกรในอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือเกษตรกรต้องหันไปใช้วิธีถอนหญ้าด้วยมือหรืออุปกรณ์กำจัดวัชพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งหากเป็นรูปแบบดังกล่าวเขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากต้องการจะถอนหญ้าในแปลงขนาด 1 ไร่ใน 1 วัน  แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ 16 ตร.ม./ชม. ถ้าต้องถอน 1 ไร่ต้องใช้แรงงาน 14 คน มีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ เฉลี่ย 300 บาท ดังนั้นหากต้องการถอนหญ้าในแปลงจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,200 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ใช้สารเคมีจะมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อไร่ เกษตรกรใช้สารดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  สุกรรณยังได้พูดถึง กลูโฟซิเนท ที่ฝ่ายเรียกร้องให้แบนได้เสนอเพื่อใช้เป็นสารทดแทนว่า เป็นสารตัวใหม่ที่เกษตรกรยังไม่คุ้นเคย และมีต้นทุนสูงกว่าสารตัวเดิมถึง 7.5 เท่า ในขณะที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า วันนี้หากพูดว่าจะสั่งแบนสารดังกล่าว ในความเป็นจริงกรมฯได้สั่งแบนแล้วหลายตัว แต่ปรากฏว่าสารดังกล่าวเกษตรกรก็ยังสามารถหาซื้อได้จากหลังร้าน

“การสั่งแบนจึงไม่ใช่คำตอบเพราะสารเหล่านี้มีความจำเป็นในภาคการผลิต เกษตรกรต้องหามาใช้ให้ได้ ไม่มีหน้าร้านก็หาได้จากหลังร้าน วันนี้ถ้ารัฐสั่งแบนแล้ว  สารเหล่านี้จะลงใต้ดิน จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา วันนี้ 17 ล้านครัวเรือนเป็นภาคการเกษตรนอกจากเป็นผู้ผลิตที่สัมผัสสารเคมีโดยตรงแล้ว ยังเป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงอื่นตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ออกมาอ้าง  ดังนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่วิธีการบริหารจัดการสารเคมีมากกว่าความเป็นพิษ วันนี้ผมเองรู้สึกดีใจที่กระทรวงเกษตรฯ ยังเป็นของพี่น้องเกษตรกรไทยที่รับฟังพวกเราบ้างว่า เราคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่รับฟังข้อมูลจากคนที่เขาไม่ได้ใช้แต่มาสั่งว่าห้ามใช้” สุกรรณ กล่าว

โดยเขายังได้นำเสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องว่า วันนี้รูปแบบการใช้สารเคมีของภาคการเกษตรเปลี่ยนไป คนใช้จริงสัมผัสกับสารโดยตรงกลายเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นหากกรมฯสามารถจัดหลักสูตรอบรมสอนการฉีดพ่นการใช้สารอย่างถูกต้อง พร้อมออกใบรับรองให้สามารถทำงานรับจ้างฉีดพ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ปัญหาความเป็นพิษจากการสัมผัสจะลดลงไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะช่วยคัดกรองการซื้อสารเคมีจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ จะช่วยให้ปัญหาการรับพิษ หรือเฝ้าระวังการนำไปใช้ไม่ถูกประเภทลดลงไปได้

สอดคล้องกับนายธรรมนูญ  ยิ่งยืน เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง และข้าวโพดในพื้นที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ได้สะท้อนข้อคิดเห็นว่า นับเป็นเรื่องดีที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดเวทีประชุมนี้ขึ้น แต่อยากให้กรมฯรับฟังให้รอบด้านจากผลกระทบทั้งหมด วันนี้เป็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ในขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยังเป็นข้อมูลที่เก็บตัวอย่างมาจากโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอย่างแน่นอน ยังไม่สามารถนำเป็นข้อมูลชัดเจนถึงสาเหตุความเจ็บป่วยได้ อยากให้ไปเก็บตัวอย่างจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของการผลิตการเกษตรแต่ละชนิด มีโอกาสใช้สารเคมีปัจจัยทางการผลิตจริงนำมาเปรียบเทียบจึงจะทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ขึ้น ส่วนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจต้องออกมาพูดกันว่าวันนี้ภาคการเกษตรเราสามารถทำรายได้ให้ประเทศได้เท่าไหร่ มีการลงทุนด้านไหนไปบ้างอย่างไร

“ผมทำพืชไร่มีทั้งมันสำปะหลังกับข้าวโพด 2 ตัวนี้ต้องใช้สารเคมีอย่างเดียวในการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพ ในสถานการณ์ที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย สารเคมีเหล่านี้ช่วยได้มาก ทั้งเรื่องคุมวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรในอุตสาหกรรมเกษตรใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้เป็นช่วงเวลาไม่ใช่ตลอดเวลา หากต้องมีการแบนจริงสารตัวใหม่ที่ใช้ทดแทนราคาไม่ได้ถูกกว่า ในขณะที่ต้นทุนส่วนอื่นสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำสวนทางลงกว่า 20% จากที่รัฐกำหนดราคารับซื้อไว้ ผมมองว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นพิษของมัน แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ คือใครเป็นคนใช้ จัดเก็บอย่างไร ใครเป็นคนขาย ทุกคนต้องมีความรู้ที่จะนำไปใช้ ข้อมูลวันนี้อยากให้ภาครัฐนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดมาตรการการบริหารจัดการให้ชัดเจน”

ทางด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย  ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับกรณีความสับสนที่เกิดขึ้นกับการเผยแพร่ข่าวการแบนสารเคมีดังกล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะหลักเกณฑ์ ความชัดเจนในระบบบริหารจัดการการใช้สารเคมีในเมืองไทย สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายหากใช้ผิดประเภท หรือเกินคำแนะนำเป็นข้อมูลที่ทุกคนทราบ แต่ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการของภาคการเกษตรออกมาพูดถึงตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล  กลับปล่อยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านสุขภาพของคนมาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จนทำให้สังคมเกิดคล้อยตามข้อมูลด้านสุขภาพ จนลืมไปว่าในข้อมูลด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้

เขาได้ยกตัวอย่างภาคการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศราว 10 ล้านไร่ มีตัวเลขผลผลิตต่อปีประมาณ 100 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ แสนล้านบาท ไทยส่งออกน้ำตาลและผลผลิตน้ำตาลในรูปแบบอื่นปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก บราซิล อินเดีย และจีน แต่ในภูมิภาคอาเซียนไทยส่งออกคิดเป็นปริมาณ 50% ของการบริโภค ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกำลังมุ่งไปที่พลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน จำเป็นที่พืชไร่อย่างอ้อยยังต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในพื้นที่ไร่อ้อยขนาดใหญ่ และในกระบวนการปลูกอ้อยเองใช้สารเคมีสำหรับศัตรูพืชและวัชพืชอยู่ที่ ประมาณ 500 บาทต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนรวมอยู่ที่ 9,000 บาทต่อไร่ ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมด

“ปัญหานี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการถ้าทำอย่างเป็นระบบมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ว่าใครได้รับอนุญาตให้ใช้ ขึ้นทะเบียนร้านค้า ใครเป็นคนขาย  ขึ้นทะเบียนสารเคมีอย่างถูกต้องมีหลักเกณฑ์ชัดเจน รวมถึงจัดอบรมเจ้าหน้าที่แนะนำสารเคมีประจำร้าน หรือนำเจ้าของร้านที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาอบรมรับใบรับรอง ว่าเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในการแนะนำผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับเภสัชกรประจำรู้ร้านขายยา ตรงนี้จะช่วยทำให้ปัญหานี้ถูกแก้ไข ตรงจุดคือระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้มีบทบาทหน้าที่โดยตรงต้องมีความทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก มีความชัดเจน มีงานวิจัยของกรมฯ ที่หนักแน่นสร้างความน่าเชื่อถือป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นตอบข้อสงสัยของสังคมได้” นายกิตติกล่าวทิ้งท้าย

หลังจบการประชุมวันนั้น เกษตรกรใจชื้นขึ้นที่ภาครัฐเข้ามา “ฟัง” ความจริงจากผู้ใช้ถึงความจำเป็นและภาระที่เกษตรกรเผชิญหน้าอยู่ ทว่าสิ่งที่เกษตรกรอยากให้ความจริงนี้สะท้อนเป็นความจริงใจของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเกษตรกร 17 ล้านครัวเรือน ที่เป็นทั้งผู้ผลิต และฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาด 1.22 ล้าน ต่อปีหรือไม่ อันนี้ต้องจับตากันต่อไป