“เอสพีซีจี”ผุดโซลาร์ฟาร์มยุ่น500MW ในปท.จับมือ”เคียวเซร่า”ลุยขายแผงรับแสงบนหลังคา

SPCG ลุยโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นอีก 500 เมกะวัตต์ เทเงินลงทุนเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท หลังโอกาสทำโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในไทยเริ่มน้อยลง เหตุรัฐบาลยังไม่ประกาศรับซื้อไฟเพิ่ม ส่งผลให้ต้องหันมาทำตลาดโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่อาศัย-โรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการส่งทีมเซลส์เข้าไปเจาะตลาดรายโรงงาน ตั้งเป้าปีนี้บริษัทมีรายได้รวม 6,000 ล้านบาท

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินการของบริษัทว่า บริษัทมีแผนจะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมกะวัตต์ (MW) ภายในช่วง 2 ปีนี้ (2560-2561) จากปัจจุบันที่บริษัทเข้าไปดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มใกล้กับอุทยานภูเขาไฟไดเซนจำนวน 30 MW โดยร่วมกับบริษัทเคียวเซร่า ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชั้นนำของโลก (เคียวเซร่า คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นใน SPCG 1.46%)

“โซลาร์ฟาร์มที่ไดเซนค่อนข้างประสบความสำเร็จและกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(COD)คาดว่า SPCG จะต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท (จากมูลค่ารวมโครงการที่ 50,000-60,000 ล้านบาท)”

โดยความน่าสนใจของตลาดพลังงานในญี่ปุ่นอยู่ที่ 1) รัฐบาลญี่ปุ่นมีความชัดเจนด้านนโยบายที่ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก 60,000 MW โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้องหยุดเดินเครื่องหลังจากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา 2) อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff หรือ FiT ของญี่ปุ่นค่อนข้างจูงใจ หรืออยู่ที่ประมาณ 21-26 เยน/หน่วย จากเดิมที่เคยให้ราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดถึง 46 เยน/หน่วย และ 3) กฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่าอัตราค่าไฟฟ้า FiT ในประเทศญี่ปุ่นจะ “ลดลง” ในแต่ละปี แต่ SPCG ประเมินแล้วพบว่า “ยังคุ้มค่าที่จะลงทุน” รวมถึงการหาที่ดินเพื่อรองรับโครงการ ซึ่งยอมรับว่าค่อนข้างยาก และที่ดินมีราคาแพงเมื่อเทียบกับการลงทุนในไทย แต่เนื่องจาก SPCG มีพันธมิตรที่ดีและสามารถหาที่ดินมารองรับโครงการโซลาร์ฟาร์มได้

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไม SPCG ต้องเบนเข็มไปลงทุนทำโรงไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น เป็นเพราะในประเทศยังไม่มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในขณะนี้ รวมถึงก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ปรากฏ SPCG ได้ยื่นเสนอโครงการเข้าไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” และ SPCG ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

“ไม่ใช่แค่ SPCG เท่านั้นที่สนใจลงทุนในญี่ปุ่น แต่มีนักลงทุนจากทั่วโลกที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน เพราะเงินที่นำเข้าไปลงทุนนั้นปลอดภัยแน่นอน และยังสามารถทำรายได้ สร้างกำไรที่เหมาะสม สิ่งที่ดึงดูดชัดเจนเลยก็คือ นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนและมั่นคง ตอนนี้กำลังผลิตใหม่จากโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่นเข้าระบบไปแล้ว 30,000 MW ในขณะที่ประเทศไทยมีพลังงานทดแทนก่อนแต่มีเข้าระบบเพียง 6,000 MW เท่านั้น ฉะนั้น SPCG ยังมีโอกาสอีกมากในตลาดนี้” ดร.วันดีกล่าว

สำหรับการดำเนินงานในประเทศนอกเหนือไปจากธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจำนวน 36 แห่งรวม 260 MW ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางสาววันดีกล่าวว่า SPCG ได้ทำตลาดโซลาร์รูฟท็อปมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยจะแบ่งการขายออกเป็น 2 กลุ่มคือ ที่อยู่อาศัย กับ โรงงานอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวและสร้างรายได้ต่อเนื่องจากปีแรกที่ทำรายได้ประมาณ 40 ล้านบาท มาถึงปีนี้คาดการณ์ว่าจะขยับขึ้นมาเป็น 1,500 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาทจากปี 2559 มีรายได้รวม 5,544 ล้านบาท (กำไรสุทธิ 2,617.5 ล้านบาท)

“การตลาดโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มที่อยู่อาศัยเราทำร่วมกับ โฮมโปร ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมใช้วิธีการส่งเซลส์เข้าไปติดต่อกับโรงงานโดยตรง ในขณะที่โซลาร์รูฟท็อปถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ต้องให้ความรู้ลูกค้าก่อน โดยเราจะช่วยลูกค้าพิจารณารูปแบบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ สิ่งที่ลูกค้าจะต้องมีคือ เงินลงทุนและเครดิตที่ดี มีการใช้ไฟฟ้าตลอด โครงสร้างหลังคาต้องแข็งแรง และต้องไม่มีเงามาบดบังแผงโซลาร์เซลล์ ที่สำคัญ BOI ได้ให้การสนับสนุนด้วย โดยโรงงานใดที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถนำเงินลงทุนไปหักกับภาษีเงินได้นิติบุคคลปลายปีสูงสุดที่ 50%” ดร.วันดีกล่าว

ส่วนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ นั้น SPCG กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากขยะ หากดำเนินการได้จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด แต่รัฐบาลต้องมีความชัดเจนด้านกฎหมายมากกว่านี้ “อาจทำให้โครงการเกิดขึ้นได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดแยกขยะ จำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแล รวมถึงต้องมีมาตรการมาจูงใจเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน หากดำเนินการได้จะช่วยลดต้นทุนในกรณีที่นำขยะต่าง ๆ ไปต่อยอด เช่น นำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เพียงแต่จะช่วยภาครัฐลดค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้ว ยังสามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์