กินยาลดน้ำหนักยี่ห้อดัง 7 วัน เบลอหนัก-พูดไม่รู้เรื่อง ต้องหามส่งโรงพยาบาล!

วันที่ 26 เม.ย. ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 60 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ได้ส่งตัวผู้ป่วยหญิงอายุ 35 ปี มาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง ด้วยอาการ อาการเบลอ สับสน ปวดท้ายทอย พูดจาสื่อสารไม่รู้เรื่อง สับสน เหนื่อย และง่วงนอน เมื่อซักประวัติพบว่าผู้ป่วยรายนี้ กินยาลดความอ้วน ยี่ห้อหนึ่งติดต่อกัน 7 วันแล้ว ทำให้น้ำหนักลด 5 กิโลกรัม แต่ส่งผลข้างเคียงกับร่างกาย

ผู้ป่วยเล่าว่า เมื่อช่วงสงกรานต์ มีเพื่อนบ้านกลับมาพบว่าเพื่อนผอมลง จึงสนใจทำให้ทราบว่าเพื่อน กินยาลดความอ้วน ยี่ห้อนี้ เพื่อนเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้ต้องการลดน้ำหนักจึงให้ยาลดความอ้วนมากิน เมื่อตรวจสอบพบยากินเป็นชุด ซื้อมาในราคาชุดละ 370 บาท ใน 1 ซอง มี 21 เม็ด ผู้ป่วยกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น รับประทาน 7 วัน น้ำหนักลด 5 กิโลกรัม จนมีอาการเบลอ พูดจาไม่รู้เรื่อง ปวดท้ายทอย ญาตินำตัวส่งโรงพยาบาลสาธรณสุขตำบล จากนั้นถูกส่งตัวมาวินิจฉัยอาการ และรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล ปกติผู้ป่วยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่พบว่าเมื่อกินยาลดความอ้วนแล้วมีผลข้างเคียงตามมาที่อันตรายกับร่างกาย ภญ.สุภาวดี กล่าว

ด้านนพ.วันชัย วันทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง กล่าวว่า สำหรับยาลดความอ้วนดังกล่าว ถูกระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อตรวจสอบ ไม่มีเลข อย. แต่กลับพบว่าระบาดหลายจังหวัดภาคอีสาน ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและวัยทำงาน หลังได้รับตัวอย่างยาได้ส่งตรวจสอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าใน 1 ชุด มียาอยู่ 3 ชนิด สารที่พบคือ ไซบูทรามีน มีผลต่อระบบประสาท ทำให้นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง ไบซาโคดิล เป็นยาระบาย หากกินต่อเนื่องจะมีผลทำให้หงุดหงิด ตัวบวม และไดอะซีแพม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทส่วนกลาง ในทางการแพทย์จะใช้เป็นยากล่อมประสาท

“แต่การใช้ยาทุกตัวที่พบในยายี่ห้อนี้เป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อสั่งยา แล้วจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น ไม่สามารถซื้อขายได้เองตามร้านขายยา เพราะหากรับประทานมากเกินไปจะส่งผลข้างเคียงกับร่างกาย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ ความดัน หลอดเลือด เพราะตัวยาจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีโอกาสช๊อค หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่การควบคุมดูแลการระบาดของยาเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันมีการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านสามารถซื้อหาได้ง่าย การป้องกันคือชาวบ้านต้องรู้เท่าทันโทษของยา รวมถึงช่วยเป็นหูเป็นตาดูสิ่งผิดปกติที่จะเข้าสู่ชุมชน แล้วส่งต่อข้อมูลผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหายาอันตราย”นพ.วันชัย กล่าว