คลี่ครอบครัวไทย 4.0 “นโยบาย” สวนทาง “ความจริง”

แม้จะเป็นสถาบันเล็กๆ แต่ในความรู้สึกของเด็กเยาวชน “ครอบครัว” คือ โลกทั้งใบที่ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และความปลอดภัยให้กับพวกเขา

ทว่า…ในยุคที่ประเทศไทยยุค 4.0 สถานการณ์ครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ในงานแถลงข่าว “คลี่ครอบครัวไทย 4.0” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNFPA Thailand ที่ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้เผยถึงรูปแบบครอบครัวไทยที่มี “ความหลากหลายมากขึ้น”

 

“พ่อแม่ลูก” นิยามครอบครัว “ตกยุคสมัย”

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน UNFPA กล่าวถึงภาพรวมของครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 พบว่า ครอบครัวสามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในชนบท ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวหลัก ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง สำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย จาก 970,000 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 1.37 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบครอบครัวข้ามรุ่น และครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

“รูปแบบครอบครัวในปัจจุบัน อันดับ 1 ครอบครัวสามรุ่น 37% อันดับ 2 ครอบครัวพ่อแม่ลูก 27% อันดับ 3 คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร 16% อันดับ 4 ครัวเรือนอยู่คนเดียว 14% อันดับ 5 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7% อันดับ 6 ครัวเรือนข้ามรุ่น 2% และอันดับ 7 ครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติ 1% ซึ่งมีความเป็นชุมชนแบบหนึ่ง ทั้งชุมชนของเพื่อนฝูง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติ แต่มีสายสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน”

น.ส.ณัฐยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งปัจจุบันการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันในไทยยังไม่ได้รับรองสถานภาพทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ สิทธิและสวัสดิการจากภาครัฐที่จัดให้แก่คู่สมรสและบุตร อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้ การรักษาพยาบาล การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดก เป็นต้น

“ดังนั้น ความหมายของครอบครัวยุคใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงไม่สามารถใช้ความหมายแบบเดิมที่ให้นิยามว่า ครอบครัวคือพ่อแม่ลูก ไปเป็นตัวกำหนดนโยบายหรือบริการแบบเดิมได้ ถ้ากฎหมายและระบบสวัสดิการปรับตัวไม่ทัน เราก็จะละเลย กีดกันคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะติดตามสถานการณ์ได้ทันการณ์ คือ การเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะให้มากขึ้น” น.ส.ณัฐยากล่าว

**เสียงสะท้อน “เยาวชน”

จากการสำรวจความคิดเห็น “สถานการณ์ครอบครัวไทย” ของเยาวชน แม้รูปแบบของครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบของความรักความอบอุ่นที่เยาวชนอยากได้จากครอบครัวก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สสส. ยูเอ็นเอฟพีเอ และคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ม.สงขลานครินทร์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 824 คน

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เผยว่า ครอบครัวในความหมายของเยาวชน อันดับ 1 คือ ความรัก ผูกพันต่อกัน ตามด้วย การอยู่ร่วมกัน การมีงานทำ มีรายได้ของหัวหน้าครอบครัว และการให้การศึกษาแก่สมาชิก ส่วนลักษณะครอบครัวที่เยาวชนต้องการ อันดับ 1 คือความรักต่อกัน 24% อันดับ 2 การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรง 22% อันดับ 3 มีบ้าน ที่อยู่เป็นของตนเอง 20%

“สิ่งที่เยาวชนต้องการจากครอบครัวมากที่สุด ซึ่งหากดูจากการใช้เวลาของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวดีขึ้น จาก 2 ชั่วโมง เป็นเกือบ 3 ชั่วโมง คำถามที่ตามมาคือ เวลาที่ให้กับคนในครอบครัว 3 ชม. ทำอย่างไรถึงกลายเป็นเวลาที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว และการให้ใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่เล็กจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันแก่เด็กเมื่อโตขึ้น” นางเพ็ญพรรณ กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์