ยังไม่เลิก 30 บาทรักษาทุกโรค! ครม.ไฟเขียวจูงใจบัตรทอง 3 ล้านราย จ่าย 300 บาทอัพเกรดสิทธิ์

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 40 อาทิ แรงงานไม่มีนายจ้าง อาชีพอิสระ รับจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สิทธิ์ประกันสังคม) ได้แก่

1.ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. อาทิ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (เคยเป็นลูกจ้าง) ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอื่น ๆ ของราชการ รัฐวิสาหกิจ

2.ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. …. กรณีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จ่ายเงินสมทบ ฯ เดือนละ 100 บาท ได้รับประโยชน์ครอบคลุมกรณีชราภาพ จ่ายเงินสมทบ ฯ เดือนละ 300 บาท ได้รับประโยชน์ครอบคลุมสงเคราะห์บุตร

กรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาล ประเภทผู้ป่วยใน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ วันละ 300 บาท ถ้าไม่ได้เป็นผู้ป่วยในแต่หยุด 3 วันขึ้นไปและมีใบรับรองแพทย์ได้รับ 200 บาท กรณีจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 60 เดือน ได้รับเงินสงเคราะห์ 3,000 บาท กรณีจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท สมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากตายได้รับ 40,000 บาท สมทบไม่น้อยกว่า 24 เดือน รับเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี ไม่เกิน 2 คน คนละ 200 บาทต่อเดือน สมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หากชราภาพได้รับประโยชน์ทดแทน (โบนัส) 10,000 บาท

3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 70 บาท รัฐบาลสมทบ 30 บาท จ่าย 100 บาท สมบท 50 บาท จ่าย 300 บาท สมทบ 150 บาท ทั้งนี้ เป้าหมายระยะยาวให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม 20 ล้านคน ภายใน 20 ปี คิดเป็นรายจ่าย 3,000 ล้านบาทต่อปี ปีแรกตั้งเป้า 3 ล้านคน รายจ่าย 400 ล้านบาท