เศรษฐกิจฝืดเปิดช่องแชร์ลูกโซ่ระบาด รัฐมึนไล่กวดไม่ทัน มิจฉาชีพปรับเกมตุ๋น!

จากรายงานข่าวตามสื่อกระแสหลักต่อปัญหาหลอกลวงต้มตุ๋นของคนไทยด้วยกันเอง ผ่านรูปแบบธุรกิจต่างๆ ที่มาพร้อมกับแรงจูงใจโดยให้ผลตอบแทนสูง แต่เงินลงทุนต่ำ จึงเป็นที่ล่อตาล่อใจของใครหลายคนที่ต้องการหาช่องทางลงทุนใหม่ๆ เพราะการลงทุนในรูปแบบเดิมๆ ได้ผลตอบแทนน้อย แถมยังใช้เวลามากกว่าจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา

ในเรื่องนี้เองกลุ่มมิจฉาชีพก็รู้จุดอ่อนนิสัยคนไทยบางกลุ่มที่อยากรวยทางลัดอยู่แล้ว ก็พยายามคิดกลยุทธ์ วิธีหลอกลวง
ต้มตุ๋น โดยใช้กระแสสังคม ความนิยมที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งหนึ่งในลูกเล่นที่ใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ในรูปธุรกิจท่องเที่ยว แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม มิจฉาชีพล้วนใช้ข้อความโน้มน้าวใจ แถมพ่วงด้วยการให้เหยื่อได้เป็นนักธุรกิจตามคำโฆษณา ได้ผลตอบแทนกลับมามหาศาล จนทำให้ใครหลายๆ คนอดไม่ได้ที่จะกระโดดลงไปร่วมวง

๐ เม.ย.หลอกตุ๋นร่วมพันล้าน
จากข้อมูลพบว่า เฉพาะเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 1-23 เมษายนที่ผ่านมา มีความเสียหายจากคดีต่างๆ เกิดขึ้นมากถึง 6 คดี รวมมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านบาท!! ปรากฏให้สื่อมวลชนได้รายงานข่าวตลอดทุกวัน

นับตั้งแต่ข่าวใหญ่ฮือฮาก่อนสงกรานต์เพียง 2 วัน จากเหตุคดีซินแสโชกุน ในคืนวันที่ 11 เมษายน มีกลุ่มคนไทยที่ได้รับความเสียหาย หลังเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่กลับไม่ได้ไป ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิมากถึง 2 พันคน นับเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดี หลังบริษัทขายอาหารเสริมชื่อ เวลท์ เอเวอร์ โดยเครือข่ายของ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน เจ้าของบริษัทแชร์ลูกโซ่ เวลท์ เอเวอร์ หลอกขายทัวร์ไปท่องเที่ยวยังเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในราคาตั้งแต่ 9 พัน-2 หมื่นบาท และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้เสียหายถูกหลอกในลักษณะนี้ เพราะผู้ต้องหาเคยก่อเหตุในลักษณะนี้ซ้ำๆ แล้วหลายครั้ง โดยถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2555-2559 รวม 6 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ทั้งหมด มีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลมากถึง 10 ครั้ง

ห่างกันแค่ 1 วัน ก็มีผู้เสียหายจากคดีเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเกิดขึ้น เมื่อมีเพื่อนที่รู้จักกับเจ้าของบริษัทกว่า 20 ปี แจ้งความตรวจสอบเอาผิดกับเจ้าของ บริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด ดำเนินธุรกิจรับจองที่พักโรงแรม หลังชักชวนให้ระดมทุนร่วมกิจการดังกล่าวขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท ได้ผลตอบแทน 6-15% จ่ายปันผลทุก 15 วัน แต่ปลายมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจแจ้งกับสมาชิกจะปิดบริษัท เพราะเริ่มหมดสัญญากับเอเยนซี่ทัวร์ และจะคืนเงินลงทุนทั้งหมดให้สมาชิกช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถติดต่อเพื่อนรายนั้นได้ ทำให้กังวลว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นกว่า 250 ล้านบาท จึงเข้าร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ช่วยตรวจสอบ

ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ เกิดคดีหมอตุ๋นหมอทำเอาสังคมตะลึงไปเช่นกัน เพราะด้วยอาชีพเป็นถึงแพทย์ ซึ่งถือเป็นอาชีพมีเกียรติ และเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า แม้งานจะค่อนข้างหนักแต่ผลตอบแทนก็ไม่ใช่ย่อย กลับยังโลภไม่หยุด หลอกลวงเพื่อนร่วมวิชาชีพและเพื่อนอาชีพอื่น อาทิ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ทหาร ให้ร่วมลงทุนกับบริษัททัวร์ชื่อ วี สยาม เอเจนซี่ จำกัดŽ ทำธุรกิจจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม แต่สุดท้ายก็ส่งสัญญาณชิ่งหนีไป ทิ้งความเจ็บปวดไว้กับผู้เสียหายที่ต้องสูญเสียเงินไปรวมกันกว่า 64 ล้านบาท

สามวันถัดมา ก็เกิดเหตุประชาชนถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนแชร์เหมืองทองคำจาก บริษัท สูมาโกตา (ประเทศไทย) ให้ซื้อหุ้นร่วมทุนหุ้นละ 2,800 บาท แล้วจะได้รับผลตอบแทนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 200-300 บาท และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 17 จะคืนทุนให้ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีใครได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย จึงพาเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คดีนี้ตำรวจคาดว่าจะมีผู้เสียหายราว 1 พันคน คิดเป็นมูลค่าราว 500 ล้านบาท

ในวันเดียวกันนั้นเอง ก็เกิดกรณีตุ๋นออนไลน์ หลอกประมูลซื้อทองคำออกมาร้องเรียน โดยผู้เสียหายโดนหลอกประมูลทองคำผ่านเฟซบุ๊กชื่อ รัชชุดา ทองแย้มŽซึ่งอ้างว่าจัดประมูลทองคำราคาถูกกว่าท้องตลาดหลายพันบาท ครั้งแรกๆ จัดส่งทองคำให้ตามกำหนด หลังเหยื่อตายใจ โอนเงินให้จำนวนมาก กลับเชิดหนีไป มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย สูญเงินรวมกว่า 60 ล้านบาท โดยรูปแบบอย่างราคาทองคำน้ำหนัก 1 บาท ราคา 2 หมื่นบาท แต่เจ้าของเฟซบุ๊กตั้งราคาเริ่มต้นประมูลเพียง 1 หมื่นบาท เมื่อคนชนะประมูลใช้เงินไม่ถึงราคาตลาด ก็เกิดการบอกต่อและแห่ถอนเงินในบัญชีธนาคารออกมาประมูล หวังว่าจะกอบโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่สุดท้ายก็โดนหลอก

คดีล่าสุดก็ไม่แตกต่างไปจากหลายๆ คดีที่ผ่านมา เมื่อมีชาวบ้านจากสุพรรณบุรีได้รับความเสียหายหลังถูกผู้ระดมทุนหลอกให้ตัวแทนจำหน่ายลงหุ้นขายครีม เพื่อนำไปผลิตครีม เครื่องสำอาง อ้างว่ารายได้ดีให้ผลตอบแทนสูง 22% อาทิ หากใครลง 1 แสนบาท ก็จะได้ผลกำไรคืนเดือนละ 2.2 หมื่นบาท ทำให้คนมาร่วมกันลงทุนจำนวนมาก บางคนถึงกับเอาบ้านไปจำนองเพื่อเอาเงินมาลงทุนเลยทีเดียว คดีนี้แม้จะมีผู้เสียหายเพียง 20 ราย แต่มูลค่าความเสียหายคาดว่าจะแตะ 100 ล้านบาท

๐ คดีต้มตุ๋นถี่ยิบความเสียหายสูงลิ่ว
จะพบว่าเพียงแค่ 3 สัปดาห์ ยังไม่พ้นช่วงเดือนเมษายนเลยด้วยซ้ำ กลับเกิดคดีต้มตุ๋นหลอกลวงจำนวนมาก บางส่วนก็เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ขายตรง ชักชวนกันลงทุนแล้วก็โกงกันซึ่งหน้า ต่างปรากฏให้เห็นครบถ้วนกระบวนความ นี่ยังไม่นับคดีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และเป็นเหตุการณ์เด่นๆ ที่ถูกรายงานเป็นข่าวใหญ่โตในสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 350 ล้านบาท จากจำนวนคดีราว 10 คดี จากข้อมูลจะเห็นว่า 5-6 คดีที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ มีความถี่ในการเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น พร้อมๆ กับมูลค่าความเสียหายต่อคดีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับคดีก่อนๆ ด้วยลูกเล่นที่แม้แต่ภาครัฐก็ตามไม่ทัน

๐ ลูกเล่นมิจฉาชีพไหลลื่นยากตามทัน
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมายอมรับว่า ปัจจุบันลูกเล่นที่มากขึ้นของพวกมิจฉาชีพเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ยอมรับว่าหลายกลยุทธ์รัฐบาลอาจตามไม่ทัน อย่างคดีโชกุน ถือเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นพัฒนาการของแก๊งมิจฉาชีพ ที่เริ่มเข้ามาหาช่องทางออนไลน์มากขึ้น นั่นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงจะต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัล รวมถึงภาคเอกชน ในการเข้าตรวจสอบ เรียนรู้ถึงปัญหา และต้องก้าวให้ทัน หรือเหนือกว่าพวกมิจฉาชีพ ต่อไปนี้หากมีประชาชนเข้ามาร้องเรียน ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงรับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ได้เน้นย้ำไปแล้วว่าให้รับเรื่องร้องเรียนเหล่านั้น แล้วรีบส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขต่อไป

๐ เศรษฐกิจซบต้นเหตุถูกต้มตุ๋น
สำหรับปัญหาหลอกลวงต้มตุ๋นที่ถี่มากยิ่งขึ้นนั้น นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวยอมรับเช่นกันว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดถี่มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ในแง่ของโจรก็ต้องเร่งหาเงิน ด้วยการใช้ช่องโหว่ที่ก็รู้ว่าหลายคนต้องการพึ่งเงินเพื่อนำไปใช้ในเรื่องที่จำเป็น ระหว่างรอเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือบางคนต้องการใช้จ่ายเงินในราคาต่ำ อย่างกรณีทัวร์โชกุน เป็นจุดอ่อนเข้ามาหาเงิน ด้วยข้อความที่เหยื่อฟังแล้วรู้สึกเห็นคล้อยตาม ขณะที่ประชาชนเองก็ต้องลดเวลาหาเงินที่ผลตอบแทนสูงๆ โดยเร็ว เมื่อเห็นว่ามีข้อเสนอแนะไหนดี เอื้อต่อประโยชน์ตัวเองได้ ก็รีบตัดสินใจเข้าไปร่วมวงทันที ด้วยสายตาฝ้าฟาง ไม่ได้
คิดไตร่ตรองผลดีผลเสียที่จะตามมาก่อน สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อ สูญเงินไปเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนสนิท คนรู้จัก โอกาสที่จะไว้ใจกัน เชื่อใจกันก็มีมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดกรณีเพื่อนที่รู้จักกันมานานจะหลอกเพื่อนด้วยกันเอง

๐ สมาคมขายตรงแนะรอบคอบ
นางสุชาดา ธีรวชิรกุล นายกสมาคมการขายตรงไทย ระบุว่า รูปแบบหลอกลวง กลโกงต่างๆ เปลี่ยนไปทุกวัน ประชาชนเราก็เหมือนคนที่กำลังวิ่งตาม ถ้าวิ่งไม่ทัน โอกาสที่โจรจะวิ่งไปดักซุ่มรอตะครุบเราอยู่ข้างหน้าเส้นชัยก็เป็นได้เสมอ จึงอยากให้ประชาชนไตร่ตรองก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงินนั้น สิ่งที่เขาชวนร่วมทุนมีสินค้าจริงหรือไม่ ถ้ามีราคาเหมาะสมหรือไม่ มีผู้บริโภคตัวจริงหรือไม่ เน้นให้ลงทุนมากน้อยแค่ไหน ถ้ามูลค่าสูงมากก็น่าคิดให้ถ้วนถี่ก่อน มีนโยบายให้รับคืนสินค้าหรือไม่ หากเป็นธุรกิจขายตรงจริงๆ จะเน้นให้รับคืนสินค้า เนื่องจากเราต้องการขายของถาวรระยะยาว แผนการได้รับผลประโยชน์จากการร่วมธุรกิจเป็นอย่างไร ชัดเจนจนสามารถตอบคำถามตัวเองได้เพียงใด และที่สำคัญเราซื้อสินค้าเพื่ออะไร ต้องการสินค้านั้นๆ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางอ้อม ประชาชนต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะเข้าไปซื้อสินค้า บริการ หรือการลงทุนด้วยตนเอง ถ้ามองแค่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ร้อยทั้งร้อยก็มีความเสี่ยงตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเข้าไปลงทุนหรือซื้อบริการก็ตาม ของถูกและดีไม่มีในโลก

บทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้หลายคนระมัดระวังตัวมากขึ้นแค่ไหนยังต้องติดตาม หากไม่ระวัง ปล่อยใจไปตามความรู้สึก เหนือเหตุและผล เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่มีสิ้นสุด!!

 

ที่มา มติชนออนไลน์