ชาวนาหนองบัวลำภูโอด ทำนาปรังขายไม่คุ้มต้นทุนที่สูง วอนรัฐอุ้มราคา

วันที่ 24 เมษายน 2560 ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกรที่ทำนาปรัง ในพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ต.ทรายทอง อ.ศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ ที่ชาวบ้านได้มีการทำนาปรังจากน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และน้ำบ่อบาดาล กันจำนวนมาก ขณะนี้เกษตรกรส่วนมาก กำลังเร่งเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังที่เริ่มแก่แล้ว และเตรียมปรับสภาพพื้นที่ไว้รอทำนาปี จำใจขายข้าวนาปรังราคาถูก ที่หลังจากช่วงนี้ข้าวนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาปรับลดลง เหลือเพียง กิโลกรัมละ 5.80 บาทเท่านั้น หักต้นทุน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าสูบน้ำ ค่าปุ๋ย และค่าเกี่ยวแล้ว เหลือกำไรเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องทำเพราะยังดีกว่าไม่มีงานทำ จึงฝากวอนไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยใช้กลไกการตลาดช่วยเหลือให้ราคาข้าวขายได้ สัก กิโลกรัมละ 8 บาท ก็ยังดี ซึ่งราคาก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ราคา อยู่ประมาณ 7-8 บาท ซึ่งเป็นราคาข้าวที่เกี่ยวแล้วเกษตรกรนำออกไปขายเลย

นายบุญสาร แก้วมูลมุข อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 บ้านหนองขาม ต.ทรายทอง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง กล่าวว่า มีที่นา 21 ไร่ ลงทุนทำนาเป็นค่าไถ น้ำมันสูบน้ำ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ไปประมาณ 34,000 บาท ยังไม่รวมค่าเกี่ยวในราคาไร่ละ 500 บาท เหตุที่ต้องลงทุนมากกว่าเกษตรกรรายอื่นเนื่องนาที่นาไม่ได้อยู่ในเขตคลองซอยชลประทาน จึงต้องอาศัยสูบน้ำจากบ่อบาดาลและหนองน้ำ มาทำนาปรังจึงทำให้ต้นทุนสูง และเมื่อปีนี้ราคาข้าวลดลงเหลือเพียง กิโลกรัมละ 5.80 บาท เท่านั้น ทำให้เหลือ ซึ่งราคาก่อนหน้านี้ต้นเดือน เมษายน ขายได้ 7.80 บาท ก็ยังดี คาดว่าในปีนี้ ขายข้าวแล้วคงจะเหลือกำไรประมาณ 30,000-40,000 บาท

 

“จากการทำงานทั้งครอบครัวตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม มาเก็บเกี่ยว เมษายน เป็นเวลา 4-5 เดือน เหลือกำไรไม่คุ้มทุน แต่ก็ไม่มีอะไรจะทำ จึงต้องจำใจทำ ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ขายได้กิโลกรัมละ 7-8 บาท ไม่ต้องประกันจำนำถึง 16,000 บาท ก็ได้เพราะนั่นมากไป แต่อยากให้หาวิธีทำให้ได้ขายในที่สูงขึ้นด้วยการตลาด เพราะว่าในปีที่แล้ว ขายข้าวได้ราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท จะเหลือกำไร 120,000-130,000 บาท ส่วนข้าวนาปี ในพื้นที่ยัง อย่าง กข.6 ขายได้กิโลกรัมละ 10.60 บาท ข้าวมะลิ 105 ขายได้ กิโลกรัมละ 8.40 บาท สำหรับพันธุ์ข้าวที่ปลูกข้าวในนาปรัง เป็นข้าวเหนียว พันธุ์ กข.4 หรือชาวบ้านที่นี่จะเรียกว่าข้าวพันธุ์อีลายเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตดี น้ำหนักดี รวงดี รวงใหญ่ ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกัน” นายบุญสาร กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์