ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 23 เมษายน 2560 ปลากะพงขาวที่เลี้ยงอยู่ในทะเลสาบสงขลารอบๆเกาะยอ อ.เมือง ตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือของเกาะยอ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ปลากะพงตายแบบยกกระชังและเกิดขึ้นเกือบทุกราย ทำให้ผู้เลี้ยงปลากะพงต้องรีบนำเอาปลาที่ตายทั้งหมด ขึ้นมาจากกระชัง ก่อนที่ปลาทั้งหมดจะเน่า เพื่อรอส่งขายให้กับแพปลาหรือผู้ที่ต้องการนำไปแปรรูป หรือทำเป็นอย่างอื่นในราคา กก.ละ 6 – 35 บาทเท่านั้น โดยจากการตรวจสอบพบว่าน้ำโดยรอบของเกาะยอมีลักษณะสีเขียวคล้ำ และกลิ่นเหม็นค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปลากะพงตายไปเป็นจำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 100 กระชังมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
นางเกยูรวลี จันทโก อยู่ที่ หมู่ 7 ต.เกาะยอ กล่าวว่าได้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังจำนวน 12 กระชัง อายุปลาตั้งแต่ 1-2 ปี หรือน้ำหนักอยู่ที่ 1 – 4 กก.ตายยกกระชังทั้งหมด ความเสียหายไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท ทั้งที่ปลาส่วนหนึ่งเข้าคิวรอขายอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียทำให้ปลาตายเสียหาย ทำให้ขาดทุนทั้งหมด ซึ่งน้ำเน่าเสียในครั้งนี้ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเกาะยอได้รับความเสียหายมากกี่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งปลาทั้งหมดมีมาก ทำให้แจกไปบ้าง ขายไปบ้างเพราะปลาตายพร้อมกันทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งขายในราคาที่ต่ำคาดว่าได้ กก.ละ 6 บาทเท่านั้น โดยขายเป็นปลาตาย ซึ่งต้องการให้ภาครัฐเร่งให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นตัวเงิน หรือพันธุ์ปลา หรืออื่นๆตามความเหมาะสม และหามาตรการช่วยเหลือในระยะยาวด้วย
ด้านนายวัชรพงศ์ ยาณภักดี อยู่ที่ หมู่ 9 ต.เกาะยอ อ.เมือง กล่าวว่าผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในโซนนี้ ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ปลาตายเกือบทั้งหมด เฉพาะของตนเองก็มีมากความเสียหายกว่า 6 แสนบาท ทั้งที่เป็นปลาขนาดใหญ่ ซึ่งก็รอจับขายอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียก่อน ทำให้ต้องขาดทุนทั้งหมด หากภาครัฐให้การช่วยเหลือนั้นก็ควรจะเยียวยาเป็นตัวเงิน มากกว่าเป็นของอย่างอื่นๆ เพราะสามารถนำเอาไปลงทุนใหม่ได้ แต่ก็ยังคงความเสี่ยงกับปัญหาน้ำในทะเลสาบสงขลาอีก เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะเกิดปัญหานี้ ปกติในช่วงเดือนเมษายนนี้น้ำในจะเค็ม แต่ในปีนี้ฝนตกมากจนทำให้น้ำจืดมาก และเกิดน้ำมีกลิ่นเหม็นจึงทำให้ปลาตายเกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองแลวในรอบเดือนเดียวกันนี้
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ พร้อมลงเก็บตัวอย่างน้ำในทะเลสาบสงขลา เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของน้ำเน่าเสียในครั้งนี้ ก่อนที่จะสำรวจความเสียหายทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะให้การช่วยเหลือต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์