“มัลเบอร์รี่ ฟาร์ม” ฟาร์มสเตย์…เมืองแพร่

ขณะนี้ กระแสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดแพร่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีการเปิดให้บริการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรประเภทโฮมสเตย์อย่างเป็นทางการ มีอยู่ 2 แห่ง คือ 1.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ประเภทฝึกอบรมการทำไข่เค็มสมุนไพร น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยหมัก การทำถั่วงอก เป็นต้น

โดยจะมีหน่วยงานราชการเข้ามาฝึกอบรมทั้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ และต่างจังหวัด โดยมีที่พักให้กับผู้ดูงานด้วย และ 2.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย มีที่พักพร้อมศึกษาดูงานภาคเกษตรเช่นกัน

ล่าสุดนี้ยังมีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในรูปแบบ “ฟาร์มสเตย์” เกิดขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่อำเภอเด่นชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามฟาร์มหม่อน มัลเบอร์รี่ ฟาร์ม (Mulberry Farm) ภายใต้การบุกเบิกของ “นางสาวจารุวรรณ เอกบัว” สาวเมืองดอกคูนขอนแก่น วัย 38 ปี

“จารุวรรณ” บอกถึงจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มหม่อนแห่งนี้ว่า ก่อนหน้านี้ก็ทำงานเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ไต่เต้าจากพนักงานห้างค้าปลีกข้ามชาติจนกลายเป็นผู้จัดการเขต และเลือกจังหวัดแพร่ในการลงหลักปักฐาน ด้วยความที่เป็นผู้จัดการแผนกอาหารสดทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ปลูกพืชผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ

นั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตเมื่อราว 3 ปีก่อน ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำหันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว พร้อมดำรงชีวิตแบบพอเพียงบนดอยบ้านน้ำพร้าว อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมืองเล็ก ๆ ของภาคเหนือ“เรามีประสบการณ์จากการเป็นพนักงานจนถึงผู้จัดการ ทำให้เห็นวงจรและกระบวนการทำงานต่าง ๆ จึงมีแนวคิดว่า อยากปลูกพืชผัก ทำเกษตรพอเพียง และปลูกพืชตระกูลเบอร์รี่ ที่สามารถปลูกขึ้นได้ดีในเมืองไทยโดยไม่ใช้สารเคมี สุดท้ายก็มาลงตัวที่หม่อน เพราะถิ่นกำเนิดเป็นคนอีสานได้สัมผัสการเลี้ยงไหม ปลูกต้นหม่อน มีความรู้และผูกพันกับหม่อนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว”

เธอยังบอกด้วยว่า หลังออกจากงานก็ได้ไปขอกิ่งพันธุ์จากกรมหม่อนไหม ที่อำเภอเด่นชัยมาปลูก โดยได้รับการสนับสนุนต้นหม่อนมาจำนวน 200 ต้น เริ่มลงมือปลูก บนพื้นที่ 8 ไร่ รวมทั้งหมด 300 ต้น ใช้ระยะเวลา 6 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ และต้นหม่อนจะโตเต็มที่ในระยะเวลา 1 ปี ให้ผลผลิตในปีแรก ประมาณ 500 กิโลกรัม จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 100 บาท

ปัจจุบันสามารถเก็บผลผลิตได้เต็มที่ปีละกว่า 1,000 กิโลกรัม โดยให้ผลผลิตปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงหน้าฝนเดือนมิถุนายน และช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเมษายน หม่อนเป็นพืชที่อยู่ได้ทุกสภาวะ ยกเว้นน้ำท่วมขังจะทำให้รากเน่า และไม่ให้ผลผลิต“ผลผลิตหม่อนในปีแรกได้นำออกไปขายที่ตลาดเอง สามารถขายหมดเพียงไม่กี่วัน ปัจจุบันหม่อน 300 ต้นที่ปลูกไว้ก็ให้ผลผลิต และมีรายได้เข้ามาทุกวัน”

นอกจากการเก็บผลหม่อนสดจำหน่ายทุกวันแล้ว “จารุวรรณ” ยังได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ได้แก่ น้ำหม่อน และแยมหม่อน รวมถึงทำขนมปังโฮลวีทจำหน่ายคู่กันไปด้วย ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวันจากการทำการเกษตรแบบพอเพียง

อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ยังนิยมเดินทางเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์สดๆจากไร่MulberryFarm ที่ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัยอีกด้วย

ขณะเดียวกันยังต่อยอดพัฒนาไปเป็น “ฟาร์มสเตย์” รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสามารถเข้าพักในกระท่อมภายในไร่ได้ และมีกิจกรรมร่วมกันภายในฟาร์มด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนผักเก็บลูกหม่อน การแปรรูป และการทำขนมปัง เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่อยากเรียนรู้วิถีชีวิตไทย ๆ การทำเกษตร และสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยมีนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวจากประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ จองเข้ามาพักนานนับเดือน

นับเป็นฟาร์มสเตย์แห่งแรกที่เริ่มหยั่งรากในเมืองแพร่

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์