เผยแพร่ |
---|
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ในฐานะประธานกรรมการบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมร่วม 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ถึงสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบันพบว่ายังมีราคาผันผวน ทั้งที่ราคาควรปรับขึ้น หลังจากผลผลิตยางของทั้ง 3 ประเทศออกสู่ตลาดลดลง เป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ของไทยเมื่อปลายปี 2559 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกยางได้รับความเสียหาย ชาวสวนยางอินเดียและอินโดนีเซียลดการกรีดยางเพราะราคาตกต่ำในช่วงก่อนหน้านี้ จึงเห็นว่าราคายางเฉลี่ยในปัจจุบันควรจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่ากิโลกรัม(กก.)ละ 60 บาท แต่พบว่าราคายางธรรมชาติในตลาดโลกยังแกว่างตัวสูงทั้งปรับขึ้นและลดลง ที่ประชุมมีมติเร่งหาแนวทางให้ราคาในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากที่สุด โดยให้ศึกษาแนวโน้มราคายางและทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ยางในตลาดโลกรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายธีธัช กล่าวว่า นอกจากนี้ ให้ทั้ง 3 ประเทศเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการยาง ในกรณีที่ราคายางยังแกว่งตัวอยู่ และไม่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ IRCO ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไปในเดือน กรกฎาคมนี้ หรือจะเร็วกว่า เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ละประเทศให้หาทางออกร่วมกันในการประชุมที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปีของทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าราคามีความผันผวนมาก อาจจะเร่งการประชุมให้พิจารณาแนวทางแก้ไขให้เร็วขึ้นเพื่อพิจารณาควบคุมการส่งออกยางของแต่ละประเทศ ซึ่งเคยดำเนินการไปแล้วครึ่งหนึ่งในปี 2559 และประสบผลสำเร็จมาแล้ว
“ราคายางที่ควรจะเป็นคือสูงกว่าต้นทุนการผลิตของแต่ละประเทศอย่างน้อย 20% แต่ปัจจุบันบางวันราคายางปรับลดลงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยต้นทุนการผลิตยางพาราของไทยอยู่ที่กก.ละ 50 บาท ลดลงมาจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่กก.ละ 63 บาท” นายธีธัช กล่าว
นายธีธัช กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มราคายางในปี 2560 ยังคงต้องจับตาการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 3.1% โดยหากแยกเป็นประเทศ จะพบว่า สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก และใช้ยางเป็นอันดับ 2 ของโลก สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.3% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 1.6% จีนขยายตัวลดลงเล็กน้อยที่ 6.6% อียู(สหภาพยุโรป) ขยายตัวคงที่ 1.7% ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% และอินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7.2%
นายธีธัช กล่าวว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการใช้ยางในประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และจะส่งผลดีต่อราคายาง โดยไตรมาสที่ 1/2560 อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน สามารถจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นถึง 480,443 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 7.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อียู จำหน่ายเพิ่มขึ้น 321,706 หน่วย เพิ่มขึ้น 8.42% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น จำหน่ายเพิ่มขึ้น 113,135 หน่วย เพิ่มขึ้น 12.33% อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ ยังขยายตัวไม่ดีนัก โดยขายได้ลดลง 61,756 หน่วย ส่งผลให้ติดลบ 1.51%ด้านสต็อก และความต้องการใช้ยาง จะพบว่า จีน มีความใช้ยางเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 – 5 % ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราสต็อกยางต่ออัตราการใช้ยาง เหลือเพียง 2 เดือน ซึ่งเป็นการลดต่ำลงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2555
“ขณะนี้ทางกยท.ห่วงแต่ตลาดล่วงหน้าที่มีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบ ส่งผลต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทาง IRCO จึงพยายามรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพมากที่สุด เช่น การประชาสัมพันธ์และข้อมูลที่ถูกต้องให้ผู้ลงทุน การสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ตลาดซื้อขายจริง เป็นต้น” นายธีธัช กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์