ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 คัดค้านการสำรวจ-ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ของบริษัท CCCC ประเทศจีน โดยระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) และล่าสุดกรมเจ้าท่า ได้มีจดหมายถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่าบริษัทจีน CCCC Second Habor Consultants จะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในวันนี้ (19 เมษายน 2560) โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนิน 2 เดือน
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และองค์กรเครือข่ายภาคีลุ่มน้ำโขง ซึ่งทำงานติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมาโดยตลอด ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตลอดจนจัดเวทีสาธารณะ และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว นำไปสู่กระแสความไม่เห็นด้วยจากสาธารณะเนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ และโครงการนี้จะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศสำคัญของโลก ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรข้ามพรมแดนที่ใช้ร่วมกัน ระหว่างประเทศ
ในครั้งนี้ เมื่อกรมเจ้าเท่า อนุญาตให้บริษัท CCCC Second Habor Consultants ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ของจีนที่ได้รับการสัมปทานเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทย-ลาว จึงเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ทางอธิปไตยของประเทศให้กับจีนได้ทำการสำรวจ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง
ดังนั้นพวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงจึงขอแสดงจุดยืนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับมติครม. ดังกล่าว และถือเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงที่รัฐไทย ยินยอมให้ดำเนินโครงการที่จะสร้างความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรง และขอเรียกร้องดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการสำรวจครั้งนี้ ห้ามมิให้บริษัทเอกชนจีน เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ในแผ่นดินไทย อันเป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งในทางระบบนิเวศธรรมชาติ และในทางความมั่นคงระหว่างประเทศ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ประเด็นสำคัญระหว่างประเทศนี้ กำลังถูกดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่รับจ้าง และหน่วยงานรัฐไทยระดับกรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรเป็นการตัดสินใจโดยรัฐบาล เพราะหากเกิดความเสียหายแล้วจะไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้อีก
2.ขอให้มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการระเบิดแก่ง แม่น้ำโขงในระยะที่ 1 และการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน-สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเปรียบเทียบกับการค้าขายกับจีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และหาทางออกในการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน
เครือข่ายประชาชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการดังกล่าวทันที เพื่อปกป้องผืนดินไทย และระบบนิเวศอันทรงคุณค่า