ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการบาดของหนอนหัวดำในส่วนมะพร้าวทุกอำเภอกว่า 6 หมื่นไร่ มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสภาวะอากาศร้อนจัดและมีสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง ทำให้หนอนหัวดำมะพร้าวมีการขยายพันธุ์และระบาดอย่างรวดเร็วขั้นวิกฤต มีผลกระทบกับการบริโภคภายในประเทศ ผลผลิตมีราคาสูงถึงผลละ 23 บาท นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวในการส่งออกต้องสั่งมะพร้าวนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนผลผลิตภายในประเทศ
นายมงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาด้วยการปล่อยแตนบราคอนเพื่อจำกัดหนอน และชาวสวนมะพร้าวได้ตัดทางใบที่ถูกหนอนทำลายนำไปเผาไฟ แต่การระบาดยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรจึงใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ เบื้องต้นคาดว่ามีมะพร้าวความสูงไม่เกิน 12 เมตร ถูกหนอนหัวดำ ทำลายแล้วจำนวน 1 ล้านต้น และต้นที่สูงกว่า 12 เมตร อีก 3 ล้านต้น ล่าสุดได้แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้านเร่งสำรวจเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำจัดหนอนหัวดำด้วยวิธีผสมผสานโดยการมีส่วนอย่างยั่งยืน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ใช้งบประมาณกว่า 287 ล้านบาท ดำเนินการทั้ง 26 จังหวัดที่มีการระบาด
นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของธุรกิจมะพร้าวขาว ผู้รับซื้อมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสวนมะพร้าวกว่า 2,000 ไร่ และมีชาวสวนมะพร้าวจำนวนมากขายผลผลิตเพื่อนำมาทำมะพร้าวขาวส่งโรงงานกะทิ ปัจจุบันราคามะพร้าวขาวรับซื้อหน้าโรงงานที่กิโลกรัมละ 42 บาท แพงสุดในรอบ 100 ปี เนื่องจากผลผลิตมีน้อย หลังจากมีการบาดของหนอนหัวดำนานกว่า 15 ปี แต่หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขไม่ตรงจุด หลายรัฐบาลไม่เอาจริงในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นที่ผ่านมาในระดับจังหวัดมีการจัดซื้อสารบีที ที่ไม่มีคุณภาพกรมวิชาการเกษตรไม่ได้รับรองผลิตภัณฑ์ ทำให้ไม่สามารถกำจัดหนอนหัวดำได้ โดยสูญเสียงบประมาณหลายร้อยล้านบาท และชาวสวนเสียโอกาสในการทำกิน ขณะที่มะพร้าวสร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายพันล้านบาท
“การแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำที่ผ่านมาได้ใช้สารอมาเม็กติน ผลิตจากประเทศจีน ยอมรับว่าใช้ได้ผลดีไม่มีสารตกค้าง มีราคาถูกกว่าสารอิมาเม็กติน เบนโซเอท ที่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการจัดซื้อกว่า 3 เท่า และทราบว่ามีเอกชนขายผูกขาดเพียงรายเดียว ซึ่งหลายฝ่ายมีข้อข้องใจว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐไม่จัดซื้อสารเคมีที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งประเทศ” นายสายชลกล่าว