ธุรกิจ ‘ลองสเตย์’ ของผู้สูงอายุต่างชาติในไทย พุ่ง!

ธุรกิจที่ให้บริการด้านที่พักสำหรับการพำนักระยะยาว (ลองสเตย์) ของผู้สูงอายุต่างชาติในไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 21% ต่อปีซึ่งได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้ขอวีซ่าที่เพิ่มขึ้น

การขยายตัวของจำนวนผู้ขอวีซ่าดังกล่าวมีทิศทางเดียวกันกับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวสูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงการขยายระยะเวลาการพำนักระยะยาวเป็น 10 ปี

ส่งผลให้ความต้องการที่พักสำหรับการพำนักระยะยาวมีโอกาสขยายตัวสูง และอาจต้องเพิ่มการลงทุนด้านที่พัก โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนสูงราว 3.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2020

ปัจจุบันที่พักส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) และมีเพียง6 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในด้านความพร้อมของห้องพัก ทั้งความปลอดภัยและอุปกรณ์ภายในและการบริการของบุคลากรจากกรมการท่องเที่ยว

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านที่พักควรเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงอายุต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยพัฒนาการให้บริการรวมถึงการออกแบบก่อสร้างและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากผู้สูงอายุต่างชาติ โดยสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้เฉพาะคอนโดมิเนียม ซึ่งจำกัดสัดส่วนอยู่ที่ 49% หรือเลือกเป็นการเช่าระยะยาวก็ได้ แม้ว่ากฎหมายการถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาฯในไทยนั้น ยังไม่เปิดกว้างให้ชาวต่างชาติถือครองได้อย่างเสรี แต่ผู้ประกอบการอสังหาฯเองสามารถเลือกปล่อยเช่าให้กับผู้สูงอายุต่างชาติซึ่งมีระยะเวลาเช่าสูงสุด 30 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขการโอนคืนสิทธิครอบครองทรัพย์สินภายหลังที่ผู้เช่าได้ถึงแก่กรรมและถือเป็นการสิ้นสุดสัญญาเช่า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถนำทรัพย์สินกลับมาปล่อยเช่าใหม่ให้กับผู้สูงอายุต่างชาติรายอื่น และในระหว่างการพำนักอาศัยของผู้สูงอายุต่างชาติ ผู้ประกอบการยังสามารถให้บริการในด้านอื่น ๆ เช่น บริการแม่บ้านทำความสะอาด ซักรีด อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้นอกจากการให้เช่าอสังหาฯ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านที่พักสามารถร่วมมือกับธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการบริการอย่างครบวงจรที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวสูงอายุ โดยไทยมีมาตรฐานและการดูแลสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศที่ผู้เกษียณอายุต่างชาตินิยมใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ และไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งสามารถเป็นเครื่องจูงใจแก่ผู้สูงอายุต่างชาติได้

ลักษณะเดียวกันกับที่ “ออสเตรเลีย” ที่นอกจากจะมีการออกแบบสถานที่พัก สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแล้ว ยังได้จัดเตรียมบริการทางการแพทย์โดยมีผู้ช่วยพยาบาล หรือพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง

ในประเด็นนี้ ประเทศไทยสามารถนำจุดเด่นทางการแพทย์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการด้านที่พักได้ โดยปัจจุบันเริ่มมีโครงการลักษณะนี้ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว…

ที่มา :  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์