ร้านเพื่อน ‘โอกาส’ ทางสังคมของผู้ป่วยจิตเวช

การหวาดกลัวบุคคลที่ผ่านการบำบัดรักษาอาการทางจิต มักพบเห็นได้เสมอ ยิ่งข่าวความรุนแรงจากคนกลุ่มนี้ ยิ่งทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ ล่าสุดจากข่าวกรณีคนไข้จิตเวชทำร้ายร่างกายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนเสียชีวิต ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นมากยิ่งขึ้น

แล้วจะทำอย่างไร เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และผ่านการฟื้นฟูทักษะทางสังคมต่างๆ ยังมีอีกมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบในการดูแล จะพึ่งพาเพียงครอบครัว หรือตัวผู้ป่วยในการกินยาอย่างสม่ำเสมอคงไม่เพียงพอ

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์นายกสมาคมสายใยครอบครัว และนายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีธัญญา ให้ข้อมูลว่า ข่าวดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ยังบกพร่องหลายๆจุด เพราะจริงๆแล้ว ผู้ป่วยเองที่ไม่สบายควรได้รับการรักษาให้อาการสงบ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่กระบวนการรักษายังไม่สามารถพาเขาให้ไปถึงจุดที่ดีพอ และเขาอาจยังไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ไม่รู้ว่ายาที่ใช้จำเป็นอย่างไร ตัวคนไข้อาจยังไม่ได้รับข้อมูลที่มากพอ ขณะที่ญาติผู้ป่วยเองที่ผ่านมามีโอกาสหรือไม่จะได้รับการเยียวยาจากการมีลูกมีหลานป่วย เขารู้สึกอาย หรือกลัวหรือไม่ ซึ่งหากครอบครัวยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่กลับถูกคาดหวังว่าต้องดูแลคนไข้ให้ดี แบบนี้น่าสงสาร ส่วนสถานพยาบาล แม้จะทำการรักษาแต่ก็ได้ช่วงเดียว สิ่งสำคัญต้องเชื่อมถึงคนที่ดูแลเขา และการทำความเข้าใจกับคนไข้ เพราะหากทำไม่ได้ตรงนี้ก็จะเป็นช่องว่าง คนไข้ก็จะหลุดจากการรักษา และนำไปสู่ความเสี่ยงในการก่อเหตุอีก

“จริงๆต้องขอบคุณเหตุการณ์ เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และเราต้องทำอย่างไร ซึ่งหากโรคนี้น่ากลัวขนาดนี้ เราต้องลงทุนทำอะไรเพื่อลดปัญหา หากพูดแค่ว่าโรคนี้มาจากสมอง และต้องรักษาด้วยการใช้ยาอย่างเดียวคงไม่พอ ไม่เพียงแค่เหตุฆ่า อสม. ยังมีอีกหลายกรณี เราต้องนำข้อมูลมาศึกษาและลดปัญหาร่วมกัน ” พญ.สมรัก กล่าว

เกิดคำถามว่า เมื่อยังเกิดเหตุความรุนแรงลักษณะนี้อยู่ ยิ่งทำให้สังคมไม่ยอมรับ..

พญ.สมรัก ตอบว่า เป็นความจริงในปัจจุบัน แม้จะมีรัฐสวัสดิการ มีกฎหมายเอื้ออำนวยให้คนพิการทั้งหลาย แต่คนพิการทางจิตก็ถือเป็นกลุ่มที่ยากที่สุดที่จะได้รับโอกาสเข้าทำงาน ทั้งสถานประกอบการก็กลัว ทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ยังมีกระท่อนกระแท่นในการประคองตัวเอง จึงต้องมีกระบวนการในการสนับสนุนพวกเขาให้เข้มข้นมากขึ้น

ในการฟื้นฟูทักษะทางสังคม และฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมูลนิธิรพ.ศรีธัญญาได้ก่อตั้ง “ร้านเพื่อน” ขึ้นตั้งแต่ปี2543 จากนโยบายกรมสุขภาพจิต โดยร้านเพื่อนเป็นส่วนหนึ่งของรพ.ศรีธัญญา โดยเป็นแหล่งฟื้นฟูทักษะอาชีพต่างๆ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้ ซึ่งภายในร้านเพื่อน จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผู้ป่วย ทั้งที่ยังรักษาและอาการดีขึ้น เป็นผู้ป่วยนอก เช้าไปเย็นกลับ โดยผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าจะนำมาเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ป่วย อีกทั้ง ร้านเพื่อนยังฟื้นฟูทักษะเพื่อให้พวกเขากลับไปดำเนินชีวิตประจำวัน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

น.ส.สุรีย์ บุญเฉยนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ ผู้จัดการร้านเพื่อน กล่าวว่า ก่อนจะเข้าสู่ร้านเพื่อนนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินก่อนว่าอาการดีขึ้น และมีความต้องการเข้าโครงการฟื้นฟูฯ ซึ่งก็จะมีการประเมินว่าผู้ป่วยยังบกพร่องทักษะอะไร เราก็จะฟื้นฟูตรงจุดนั้น โดยมีนักกิจกรรมบำบัดทำการฟื้นฟูให้ จากนั้นก็จะมาสู่ร้านเพื่อน ซึ่งก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาฝึกทักษะอาชีพ มีทั้งหมด 7 ส่วน คือ ส่วนเบเกอรี่ ส่วนการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟสด ส่วนงานศิลปะ ส่วนรีดผ้า ส่วนจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ และส่วนร้านล้างรถ โดยงานต่างๆที่ทำจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อจูงใจว่า พวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้ โดยปัจจุบันในร้านเพื่อนมีทั้งหมด 28 คน สามารถประกอบอาชีพภายนอกได้ 10 คน

“จริงๆแล้วร้านเพื่อน ไม่ได้แค่ให้งาน แต่ให้โอกาส ให้ทักษะในการเข้าสังคม และในกรณีได้รับโอกาสในการทำงานจากสถานประกอบการแล้ว เรายังติดตามประเมินพวกเขาตลอด รวมทั้งติดตามว่าพวกเขาอยู่ได้หรือไม่ อยู่กับสังคมใหม่ๆได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญอยากขอโอกาสทางสังคม เพราะพวกเขาพัฒนาได้ และเขาสามารถอยู่ได้ เพียงแค่สังคมให้โอกาสเท่านั้น” น.ส.สุรีย์ กล่าว

จากการสอบถามอดีตผู้ป่วยจิตเวชที่บำบัดรักษาจนอาการดีขึ้น และประกอบอาชีพได้ โดยในร้านเพื่อน เป็นบุคคลที่ทำเบเกอรี่ เค็กต่างๆ เพื่อจำหน่ายในร้านกาแฟเพื่อน โดยเธอเล่าว่า ร้านเพื่อนให้โอกาสกับตนมาก จากแรกๆเข้ารักษาที่รพ. ในปี 2556 ซึ่งตนไม่มีครอบครัว มารักษาโดยไม่มีเงินด้วยซ้ำ แต่รพ.ก็ยอมรักษา และยังให้โอกาสในการฟื้นฟูทักษะทางสังคม สร้างอาชีพให้ตนได้ จากเดิมทดลองงานได้วันละ 60 บาทจนเป็น 300 บาท และทุกวันนี้มีเงินเก็บถึง 4 หมื่นบาท ส่วนที่ทดลองทำขนมเบเกอรี่ ตอนแรกก็ไม่มั่นใจ แต่พอได้ทดลองทำก็รู้สึกชอบ และยิ่งเมื่อมีคนทานขนมเบเกอรี่แล้วชอบ เรายิ่งรู้สึกดี และรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น

เป็นเพียงตัวอย่างเสี้ยวเดียวเท่านั้น กับการให้โอกาสที่เริ่มจากสถานพยาบาล สร้างสังคมเล็กๆเพื่อฟื้นฟูทักษะทางสังคม เหลือเพียงสังคมต้องร่วมกันทุกฝ่าย

อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีมาตรการใดป้องกันและช่วยเหลือเลย…

 

ที่มา มติชนออนไลน์