สัญญาณอันตราย! ปี 2567 โรงงานปิดตัว 1,234 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs ที่ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ

สัญญาณอันตราย! ปี 2567 โรงงานปิดตัว 1,234 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs ที่ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ
สัญญาณอันตราย! ปี 2567 โรงงานปิดตัว 1,234 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs ที่ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ

สัญญาณอันตราย! ปี 2567 โรงงานปิดตัว 1,234 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs ที่ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ และการแข่งขันกับสินค้านำเข้า โดย ‘ชลบุรี’ เป็นจังหวัดที่มีการปิดตัวมากที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานในปี 2567 พบว่า มีโรงงานเปิดตัว 2,112 แห่ง และปิดตัวลง 1,234 แห่ง แม้ภาพรวมการเปิดโรงงานจะมากกว่าการปิดโรงงาน แต่จำนวนโรงงานที่ปิดตัวเฉลี่ยยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

โดย 5 ประเภทของโรงงานที่ปิดตัวมากที่สุดในปี 2567 ได้แก่ โรงโม่ บดย่อยหิน/โรงขูด, อาหารและเครื่องดื่ม, อโลหะ, ยางและพลาสติก ตามด้วยเหล็ก โลหะ

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีโรงงานปิดตัวลงมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร และปทุมธานี

หากมองในเรื่องขนาด พบว่า โรงงานที่ปิดตัวลงในปี 2567 เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) มากขึ้น สะท้อนจากทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานที่ปิดตัวลงในปี 2567 อยู่ที่เพียง 47,833 ล้านบาท น้อยกว่าทุนจดทะเบียนรวมในปี 2566 ถึง 3.8 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม SMEs ในภาคการผลิตยังคงเผชิญความยากลำบาก

โรงงานเปิดใหม่ยังสามารถดูดซับแรงงานในภาพรวมได้ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ถึงกับแย่เกินไป แต่ชั่วโมงการทำงานในภาคการผลิตมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อรายได้แรงงาน ในปี 2567 โรงงานที่เปิดใหม่มีการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 36 คนต่อแห่ง สูงกว่าโรงงานปิดตัวที่มีการเลิกจ้างเฉลี่ย 28 คนต่อแห่ง

อย่างไรก็ดี แม้จำนวนการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่ภาคการผลิตมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานหรือการทำงานล่วงเวลาลง (OT) สะท้อนจากจำนวนแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 4.57 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ราว 4.12 แสนคน หรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า 11% สวนทางกับตลาดแรงงานในภาพรวม หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมจะส่งผลต่อรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานในภาคการผลิตที่ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โรงงานยังเสี่ยงจะปิดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยเฉพาะ SMEs จาก 3 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ/กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง สงครามการค้ารอบใหม่ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น