ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เผย Gen Z และ Millennials เลือกหารายได้ผ่านงานอิสระ มากกว่าทำงานประจำ
ผศ.ดร.เกรียงไกร สัจจะหฤทัย คณบดีคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า การสำรวจจาก Deloitte Global 2023 Gen Z และ Millennial Survey เปิดเผยแนวโน้มที่สำคัญของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงาน โดยพบว่า Gen Z และ Millennials ในประเทศไทย กำลังเปลี่ยนแนวทางการทำงานและสร้างรายได้ โดยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ลักษณะการทำงานแบบ Gig Economy ความหลากหลายในรูปแบบงานและการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนผ่านธุรกิจส่วนตัวและการทำงานอิสระมากกว่าการพึ่งพางานประจำแต่เพียงอย่างเดียว
ข้อมูลจากรายงานระบุว่า 66% ของ Gen Z และ 71% ของ Millennials แสดงความสนใจในการหารายได้เสริมผ่านงานอิสระ เช่น งานผ่านแอปพลิเคชันด้านการขนส่ง การสร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ และการทำธุรกิจขนาดเล็กที่ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม ความสนใจนี้ สะท้อนถึงความต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยการลงทุนในทักษะส่วนบุคคลและธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทั้งนี้ SMEs และสตาร์ตอัป เป็นแกนกลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย และหากสามารถเติบโตขยายกิจการให้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ก็จะกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทยได้

โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า SMEs มีสัดส่วนถึง 99% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานมากกว่า 14 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ ธุรกิจเหล่านี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทในปี 2024
ธุรกิจสตาร์ตอัปในประเทศไทยเองก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น FinTech, HealthTech และ AgriTech ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่มองหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังขับเคลื่อนโลก
นอกจากนี้ ในเทรนด์โลก จากการสำรวจของ Guidant Financial ในสหรัฐฯ พบว่า มากกว่า 13% ของธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ในประเทศเป็นของ Millennials โดยในกลุ่มนี้ 55% มั่นใจในความสามารถที่จะบริหารธุรกิจของตนเองให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ รายงานจาก Mintel ยังชี้ว่า 25% ของ Millennials ทั่วโลกมีแผนที่จะเริ่มต้นธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าความมั่นใจและแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่กำลังขยายตัวในระดับโลก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจส่วนตัว
- ความยืดหยุ่น งานประจำแบบดั้งเดิมที่มีชั่วโมงทำงานที่แน่นอนเริ่มไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
- เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มการพัฒนาของเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโปรโมตสินค้าและบริการ การใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขยายตลาด
- การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การลดขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท และการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน SMEs
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจจะดูเหมือนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขาดความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารธุรกิจ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในปัจจุบันมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุน เช่น โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) “Ideation” สนับสนุน 100,000 บาท และโปรแกรม Proof of Concept (POC) ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) สนับสนุน 1,500,000 บาท ที่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ขึ้นกว่าเดิม
- ขาดทักษะและความรู้ เช่น การวางแผนการเงินและบัญชีสมัยใหม่ การตลาดดิจิทัล และการจัดการซัพพลายเชน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้
- การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดการพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้ AI จะช่วยให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมุมมองในอนาคตการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนการเติบโตของ SMEs และสตาร์ตอัปในประเทศไทยไม่เพียงแต่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่น เช่น ธุรกิจในกลุ่ม Green Business และ Social Enterprise ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคต การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มองเห็นเทรนด์และความสำคัญของการสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัปและ SMEs ของประเทศจึงได้เดินหน้า พัฒนาหลักสูตรสร้างเจ้าของธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่
โดยคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าสู่โลกธุรกิจ โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีที่เน้นการบูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการสร้างธุรกิจ 2 สาขาหลัก ได้แก่

สาขาสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหลักสูตรแรกของประเทศที่ตอบโจทย์การเลือกเรียนข้ามศาสตร์ให้ผู้เรียนสามารถเป็นที่หนึ่งในแบบของตนเอง อีกทั้งยังเปิดกลุ่มมุ่งเน้นการสร้างเจ้าของธุรกิจดิจิทัลและแบรนด์อินฟลูเอนเซอร์ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในยุคดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สาขาการเป็นเจ้าของธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้าง Startup และเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรม ประกอบให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การแนะนำอย่างใกล้ชิดจากเจ้าของธุรกิจที่มีประสบการณ์ สถาบันการเงินและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่
รวมถึงหลักสูตรระยะสั้นสำหรับการเพิ่มทักษะ (Upskill) และการปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้แนวคิด คิด ทำ ขาย Local to Global ที่มีผู้สมัครเต็มตั้งแต่เปิดลงทะเบียน ทั้งนี้ เมื่อผู้เรียนเข้ามาในหลักสูตรจะมีกระบวนการเติมทักษะในด้านต่างๆ อาทิ Creativity Digital Marketing Storytelling Content Creator เป็นต้น ผ่านการลงมือทำตั้งแต่ต้นและนำไปใช้ได้ทันที
“ทุกหลักสูตรเน้นการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงและการสร้างเครือข่ายในระดับประเทศและนานาชาติ เช่น การใช้ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับการบริหารธุรกิจตามแนวคิด “University AI” ของมหาวิทยาลัยเราได้ดีไซน์ให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบได้ เพราะเราเชื่อว่าไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน แต่คือการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง และได้รับประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในสายงาน เพื่อต่อยอดความสำเร็จในโลกอนาคต”
“และถ้าผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบเพื่อไปต่อยอดเป็นอาชีพหรือทำงานในอนาคตได้ มีการเรียนข้ามศาสตร์ในคณะอื่นที่ผู้เรียนสนใจ และยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากเครือข่ายพันธมิตร แบรนด์ที่ประสบผลสำเร็จ จากระดับนานาชาติ ในประเทศ และภาคเอกชน มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน” ผศ.ดร.เกรียงไกร กล่าว