เมื่อ “ไทย” กำลังจะเป็น “ผู้นำสังคมสูงวัย” อาเซียน!!

13 เมษายนของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และ 14 เมษายนเป็น “วันครอบครัว” ทั้ง 2 วันถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับ “ผู้สูงอายุ” และ “ครอบครัว”

แต่ทว่า…ในห้วงเวลานี้ ประเทศไทยกลับประสบปัญหา “สังคมสูงวัย” และ “ครอบครัว” ที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต “เกิดน้อยด้อยคุณภาพ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “ปฏิรูปสังคมสูงวัย สร้างเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ” เพื่อช่วยหาทางออกให้ประเทศ ภายใต้แนวทางหนึ่งคือ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา “โครงสร้างประชากร” อันเนื่องมาจากการเกิดน้อยลงและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่คนเกษียณอายุมีเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สุงอายุลดลงเหลือ 1.7 หรือประชากรวัยแรงงาน 1 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากปัจจุบัน 3 ต่อ 1 ฉะนั้นจะต้องมีลูกเพื่อชาติและเป็นการเกิดที่มีคุณภาพ

“ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ของกรมอนามัย เราพยายามผลักดันมาตรการที่เอื้อการเกิดที่มีคุณภาพ เช่น การให้สิทธิในการตรวจเลือดคู่สมรสที่จะมีบุตร เพื่อคัดกรองโรคทางพันธุกรรม การรักษาภาวะมีบุตรยากที่คนชั้นกลางเข้าถึงบริการได้และผลักดันให้เป็นโรคอย่างหนึ่ง ตลอดจนการให้หญิงตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ สามารถเข้าถึงบริการปรึกษาทางเลือก” นพ.บุญฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (ยูเอ็นเอฟพีเอ) กล่าวว่า การจูงใจให้คนมีลูกเพิ่มจะไม่ได้ผล หากไม่ได้เกิดจากการสร้างทางเลือกและสภาพที่เอื้อ เพื่อให้บุคคลสามารถตัดสินใจเรื่องการมีครอบครัวและมีบุตรได้ด้วยตนเอง อาทิ การสร้างสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่นต่อการมีครอบครัว สร้างสมดุลของบทบาทหญิงชายในครอบครัว ส่งเสริมให้ผู้ชายมีบทบาทในการเลี้ยงบุตร ดูแลสมาชิกครอบครัว และงานบ้านมากขึ้น เพิ่มความครอบคลุมและคุณภาพสถานเลี้ยงเด็กเล็กให้เข้าถึงง่าย มีราคาเหมาะสม จัดบริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้มีบุตรยาก ในราคาเหมาะสม

“ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาสังคมสูงวัย และอัตราการเจริญพันธุ์ลดต่ำ เขามีมาตรการส่งเสริมต่างๆ แต่เขาก็ไม่ได้เน้นผลลัพธ์ว่าต้องเพิ่มประชากรอย่างเดียว เพราะต้องการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวม ซึ่งเมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว คนจะสามารถตัดสินใจเองว่าควรจะมีลูกเมื่ออายุเท่าไหร่ มีลูกกี่คน เหล่านี้ถือเป็นการสร้างสภาพที่เอื้อให้การตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่มีใครมาฟันธงว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำ จะทำให้การเกิดเพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า เพราะพื้นฐานแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขณะที่เป้าหมายนโยบายของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน” รศ.วาสนากล่าว

รศ.วาสนา อิ่มเอม

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในปี 2583 คาดการณ์ว่าไทยจะเป็น “ผู้นำสังคมสูงวัย” ลำดับหนึ่งของอาเซียนที่ร้อยละ 33.5 โดยมีสิงคโปร์เป็นลำดับที่ 2 ที่ร้อยละ 32 และเวียดนาม ร้อยละ 24 ขณะที่ในกลุ่มประเทศอาเซียนก็กำลังอยู่ในสถานการณ์สังคมสูงวัยเช่นกัน ฉะนั้นทางเลือกการเพิ่มปริมาณประชากรวัยแรงงาน ด้วยการนำแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทน หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกนัก แต่สามารถใช้วิธีส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานต่อเนื่อง และโดยเฉพาะการส่งเสริมการเกิด ซึ่งเป็นสิ่งต้องทำ และต้องทำให้เป็นทุกการเกิดที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

รศ.วิพรรณมองการปฏิรูปการศึกษา จะช่วยให้ไทยผ่านวิกฤตสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน ที่จะสอนให้เด็กวางแผนและรากฐานชีวิตว่าจะอยู่อย่างไร จะมีครอบครัวอย่างไร รู้จักบทบาทหญิงชาย โดยเธอเชื่อว่า “การศึกษาทำให้คนคิดเป็น วางแผนเป็น” รศ.วิพรรณกล่าว

 

ที่ทา มติชนออนไลน์